ภัยคุกคามทางโซเชียลมีเดีย
ภัยคุกคามทางโซเชียลมีเดีย : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น
เมื่อไม่นานมานี้มีสื่อสารมวลชนยักษ์ใหญ่สำนักหนึ่งยกย่องว่า โซเชียลมีเดีย หรือสังคมออนไลน์นี้ เป็นฐานันดรที่ห้าอย่างเต็มตัว เป็นชนชั้นที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกชนชั้นหนึ่ง และใครก็สังกัดชนชั้นนี้ได้ พวกเขาไม่ได้อยู่กันอย่างเล่นๆ อย่างจอมปลอม แต่สื่อสารสิ่งที่ทรงพลัง ผลักดันให้โลกแห่งความเป็นจริงต้องเดินตามแนวคิดของพวกเขาด้วยการสื่อสารที่ทั้งเร็วเพียงพริบตาและกว้างไกลอย่างที่จักรวรรดิโบราณใดก็เทียบเคียงไม่ได้ แทบไม่ต้องใช้ต้นทุนฟุ่มเฟือยหรือบีบบังคับใคร แต่สื่อที่ออกมานั้นเกิดประสิทธิผลมหาศาล แน่นอนว่ามันเป็นภัยคุกคามของโลกชนิดหนึ่งไปแล้วด้วย
นอกเหนือจากปัจจัยสี่แล้ว การยอมรับในตนเองและความคิดของคนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนอยากได้รับจากสังคม เมื่อคนพูดอะไรออกมา เขาก็หวังว่าจะมีคนฟังและเชื่อให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ครั้งโบราณกาลมีราชาจำนวนมากพยายามสร้างปมคมนาคม เส้นทางสื่อสารและส่งกำลังบำรุง กฎหมายและการบังคับให้ประชาชนในอาณัติของตนยอมสยบตามสารที่สื่อไปออกไป คนธรรมดาและผีบุญที่มีบารมีก็พยายามทำเช่นเดียวกับชนชั้นปกครองแต่มียุคนี้เท่านั้นเองที่คนธรรมดาก็เป็นผู้นำความคิดจิตวิญญาณคนได้เพียงไม่นาน แค่ลงแรงพิมพ์คำพูดเนื้อหาและสั่งการกระจายออกไปอย่างรวดเร็วเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกที่ทุกเวลาหลากหลายช่องทาง
ภัยคุกคามจากโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการหลอกลวงทางไซเบอร์ หรือเด็กติดเกมแล้ว การบ่มเพาะให้เกิดความคิดต่อต้านสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองสังคมกลัวที่สุด ความคิดต่อต้านสังคมนั้นเกิดมาด้วยเรื่องง่ายๆ เช่น ข่าวลือและการใช้ถ้อยคำรุนแรงเฮทสปีช ปลุกเร้าให้เกลียดชังคนที่คิดไม่เหมือนกัน เพราะหลักคิดง่ายๆ คือเรื่องที่ผู้ติดตามโซเชียลมีเดียสนใจมากที่สุดไม่ใช่เรื่องตลกหรือความสุข แต่เป็นเซ็กส์และความรุนแรง ดังนั้นเราจึงเห็นเรื่องของการเหยียดผิว รังเกียจศาสนา หรือคลั่งอุดมการณ์อยู่ทั่วไป พวกนี้ถูกระบายออกอย่างไม่มีลิมิต ออกมาจากใจดิบเถื่อนไม่ต้องควบคุม เพราะบางคนคิดว่านี่ก็แค่การระบายไม่ใช่ว่าจะไปฆ่าใครจริง แต่นั่นก็เป็นการเริ่มต้นบ่มเพาะตนเองและคนที่ติดตามให้กลายเป็นคนพร้อมจะทำร้ายคนอื่นได้แล้ว
การรวมตัวกันแล้วทำสิ่งที่คิดที่ฝันไว้ในสังคมเสมือนจริงให้กลายเป็นรูปธรรมในสังคมของแท้นั้น หลายเรื่องเป็นสิ่งน่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนัดกันไปประท้วงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไปจนถึงการก่อการร้าย ทางการของหลายประเทศตระหนักถึงปัญหานี้ก็จริง แต่การรับมือบางครั้งไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของโซเชียลมีเดีย การพยายามปิดกั้นด้วยการบังคับใช้กฎหมายอาจได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่อาจสร้างความคับแค้นไม่พอใจเพิ่มขึ้น การสั่งสอนอัดความคิดอนุรักษนิยมก็อาจไม่ได้ผลเพียงพอ สิ่งที่เหมาะสมที่ควรดำเนินการนอกจากการระวังป้องกันและการอบรมให้รู้เท่าทันสังคมแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐควรต้องปรับตัวเพื่อให้ตนเองทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาด้วยครับ