
กัปตันโสภณ พิฆเนศวร เปิดโลกเด็กไทยผ่านงาน'ทูตสะเต็ม'
กัปตันโสภณ พิฆเนศวร เปิดโลกเด็กไทยผ่านงาน'ทูตสะเต็ม' : คมคิดจิตอาสา เรื่อง.....กอบแก้ว แผนสท้าน ภาพ....ปราโมทย์ พุทไธสง/กัปตันโสภณ พิฆเนศวร
จากประสบการณ์เคยเป็นเด็กนักเรียนทุนในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท. รุ่นที่ 2) มาก่อน บวกกับเมื่อเข้ามาทำงานเป็นเครือข่ายผู้ปกครองที่โรงเรียนบดินทรเดชา ทำให้ กัปตันโสภณ พิฆเนศวร รองผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายควบคุมคุณภาพ, ความปลอดภัย และความมั่นคงองค์กร ของสายการบินนกแอร์ เห็นความสำคัญของการ “เปิดโอกาส” ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้มากกว่าเนื้อหาสาระในตำราอย่างเช่นในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ “กัปตันอู” ได้รู้จักโครงการ “สะเต็มศึกษา” หนึ่งในโครงการสำคัญของ สสวท. ยิ่งทำให้เจ้าตัวมั่นใจว่า นี่คือการตอบโจทย์ของคำว่า “เปิดโอกาสทางการศึกษา” อย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจแบ่งเวลาจากงานประจำ มาช่วยแบ่งปันความรู้ให้แก่เยาวชนในฐานะ “ทูตสะเต็ม”...
ก่อนที่จะลงรายละเอียดไปถึงหน้าที่ของทูตสะเต็ม “กัปตันโสภณ พิฆเนศวร” อดีตนักเรียนทุน พสวท.ปูพรมให้รู้ถึงความเป็นมาของโครงการ “สะเต็มศึกษา” หรือ STEM Education แบบคราวๆ ก่อนว่า เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ [2] มีหน้าที่หลักในการพัฒนาขีดความสามารถในด้านการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ของครู และเยาวชนไทย ด้วยเหตุนี้ “สะเต็มศึกษา” จึงเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หมายถึงองค์ความรู้ วิชาการของศาสตร์ทั้งสี่ที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริงที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิต
จากเด็กกิจกรรมในวัยเรียนสู่การเป็นประธานเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2558 และ “ทูตสะเต็ม” กัปตันอูเล่าว่า "ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ทำกิจกรรมมาตลอด ตั้งแต่รับน้อง เป็นสตาฟฟ์ จนเป็นประธานเชียร์ของคณะ พอมาเป็นผู้ปกครองของลูกที่โรงเรียนบดินทรเดชาก็ร่วมกิจกรรมอีก โดยพานักเรียนไปดูงานของนักบิน เพราะรู้ว่าในสมัยเราไม่เคยสัมผัสคนที่อยู่ในอาชีพจริง ไม่เคยสัมผัสคนทำงานนักบินว่านักบินเป็นอย่างไร เราไม่รู้จักเลย ครั้นพอตัวเองมาทำงานเป็นเครือข่ายผู้ปกครอง ก็พานักเรียนหลายกลุ่ม หลายครั้ง ไปรู้จักเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) ให้เขาได้รู้ ได้ลองนั่งเล่น ได้ลองหัดขับเครื่องบิน และไปศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งตรงนั้นรับรู้ได้ว่าเด็กมีความตื่นตัว เพราะเขาได้สัมผัสได้รู้ มันก็เลยทำให้เรามีความสุขในฐานะที่เป็นคนเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เห็นได้เรียนรู้ แล้วก็มีหลายคนที่สนใจ แต่ผมก็เบรกไปว่า ไม่ใช่ว่าคุณอยากเป็นแล้วคุณจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างเดียว เพราะการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองหลายๆ ด้าน นี่คือกิจกรรมที่ทำ ก่อนจะมารู้จักกับโครงการสะเต็มศึกษา และพอได้รู้จัก ผม
รู้สึกทันทีว่า นี่คือทางของผม!!"
สำหรับแรงบันดาลใจ กัปตันโสภณเข้ารับการอบรมเป็นทูตสะเต็มของศูนย์สะเต็มศึกษาภาค กรุงเทพมหานคร ของ สสวท. ซึ่งต้องใช้เวลาอบรมประมาณ 2 วัน กับผู้เชี่ยวชาญทั้งต่างประเทศและในประเทศเกี่ยวกับหลักการและวิธีการสอนแนวทางในการเป็นทูตสะเต็ม เจ้าตัวกล่าวด้วยรอยยิ้มว่า เพราะต้องการตอบแทนสังคม และที่สำคัญที่สุดก็เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่เยาวชน รวมทั้งเปิดโลกของการบินให้แก่คนทั่วไปได้รู้จักมากขึ้นอีกด้วย การบินนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว การบินไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก แต่เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ และเข้าใจง่าย ซึ่งเราอยากให้คนรู้ว่านักบินเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าเข้าไม่ถึง คือเข้าถึงได้ และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ มันอยู่ในนี้ด้วยกัน
"ผมเห็นว่าปัจจุบันเด็กเรียนยังคงเรียนคิดแล้วเขียนจากข้อมูลเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะทำโครงการหรือรายงานอะไรก็ตามแต่ เด็กไม่ได้สัมผัสคนที่อยู่ในอาชีพจริง ผมก็เลยเข้าอบรมสะเต็ม เรื่องการสร้างแรงจูงใจ เนื่องจากโดยวิสัยเป็นคนชอบสอนอยู่แล้ว ซึ่งการเวิร์กช็อปแต่ละครั้งจะเน้นใช้วิธีเชื่อมโยงเพื่อให้เด็กสนุกเวลาที่กลับไปเรียนในห้อง แน่นอนว่าก่อนจะเข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งก็ต้องทำการบ้านด้วย เช่น เด็กกำลังเรียนเรื่องอะไร แต่ถ้าวันไหนไปคุยกับเด็ก ม.2 ผมจะต้องไปเปิดหลักสูตรของเด็ก ม.2 ก่อนว่าเขากำลังเรียนอะไรกันอยู่ เพื่อที่เราจะได้พูดในสิ่งที่เขาเรียนมาหรือกำลังจะเรียน มันจะทำให้เขานึกภาพต่อไปได้เมื่อเราพูดแบบเบสิก เพราะเหมือนว่าเรากำลังคุยไม่ใช่สอน แต่เราแอบใส่ความคิดเข้าไป การคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลมันทำให้ตอบโจทย์ ไม่ใช่ว่าเราเรียนไปไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร"
ต่อข้อถามที่ว่า ในฐานะ “นักบิน” ที่ต้องมาทำหน้าที่เป็น “ทูตสะเต็ม” ต้องทำอะไรบ้าง “กัปตันอู” บอกว่า หน้าที่ตรงจุดนี้ของทูตสะเต็ม ไม่ได้มาเพื่อบอกให้เด็กอยากเป็นนักบิน แต่มาเพื่อให้เด็กๆ เข้าใจอาชีพของนักบิน การทำงานของนักบิน เพื่อให้เยาวชนสร้างแรงบันดาลใจของตัวเอง ไม่ได้ไปบอกว่าเด็กจะต้องชอบเครื่องบิน แต่สร้างความเข้าใจกับเด็กว่า 4 วิชาที่เรียนอยู่นั้นเอาไปทำอะไรได้ ซึ่งหลายคนที่ฟังเขาอาจจะไม่ได้อยากเป็นนักบินก็ได้ หรือไม่ได้ชอบเครื่องบิน แต่รู้ว่าวิชาเขาชอบหรือถนัดนั้นเอาไปทำอะไรได้บ้าง และไปเป็นอะไรต่อไปได้บ้าง ซึ่งมองว่าเป็นการเรียนรู้ มันเป็นการเรียนรู้จากคนที่รู้จริงออกไปให้มันเบสิกที่สุด ให้เด็กเห็นภาพง่ายๆ และเข้าใจง่ายๆ เพราะไม่งั้นถ้าเราพูดคุยด้วยศัพท์เทคนิคยากๆ จะกลายเป็นการพูดกันคนละเรื่อง
"พูดถึงอาชีพนักบินมันเป็นได้ทั้งสายศิลป์ สายวิทย์ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ที่ต่างประเทศ สะเต็ม คือ S T E M แล้วยังมีตัว A หรืออาร์ต ฉะนั้นมันจะเข้าทั้งสองอันเลย จริงๆ นักบินขับเครื่องบินต้องมีความเป็นศิลป์อยู่ด้วย คือในแง่ของการให้บริการผู้โดยสาร แต่ว่าศิลปะก็ต้องแล้วแต่คนว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน ความสามารถของผมก็ได้ในระดับหนึ่ง นักบินเป็นศาสตร์และศิลป์ ศิลปะในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้โดยสาร นี่คือตัวเชื่อม ถ้าเด็กม.ปลาย สายศิลป์ก็ควรเปิดโอกาสให้เข้าเช่นกัน เพียงแต่ว่าโครงการสะเต็มเขาเน้นที่วิทยาศาสตร์ ในอนาคตผมคิดว่าเขาน่าจะเพิ่มตัว A เข้ามา หรืออาจจะมีตัวอื่นๆ เข้ามาอีก 2 ตัว พูดตรงคือการเปิดโอกาสในการเรียนรู้เพื่อจะได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบมากกว่า" กัปตันรุ่นใหญ่ กล่าว
เพราะโครงการสะเต็มศึกษาเพิ่งเริ่มดำเนินกิจกรรมปีเศษ จึงยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมจึงต้องมีโครงการสะเต็มศึกษา ทว่าในมุมของ “กัปตันโสภณ” กลับมองว่า มีความจำเป็นในระดับที่สูง แต่ไม่อยากบอกว่าสูงมากหรืออะไร เพราะว่า หนึ่งปัญหาของเยาวชนตั้งแต่ในระดับมัธยมต้นยันมัธยมปลายคือ เด็กมักจะโดนพ่อแม่ตีกรอบความคิดให้เขา จนกระทั่งไม่เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องที่เขาควรจะเรียนรู้กว้างๆ แล้วดูว่าอันไหนคือสิ่งที่ตัวเองอยากสัมผัส
“ตัวผมเองทราบปัญหานี้ เพราะเป็นเครือข่ายผู้ปกครองมา 6 ปี ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่เห็นลูกเรียนดีมักจะบอกว่าลูกต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้นทันที โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกรู้ว่าอาชีพอื่นมีเยอะแยะมากมาย จะต้องมุ่งไปสายวิทย์เท่านั้น มีเด็กที่ถนัดศิลป์วาดรูปสวยมากก็โดนปิดกั้นความสามารถของเขา ผมถึงมองว่า สะเต็มมันมีความสำคัญในแง่เปิดโอกาสให้เด็กรู้จักอาชีพแล้วรู้ว่าเขาเรียนวิทยาศาสตร์ไปมันตอบโจทย์อะไรได้บ้าง ไม่ใช่ทุกคนที่เรียนดีแล้วจะต้องเป็นหมอ เป็นวิศวกร เรียนดีแล้วจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้มั้ย ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน อย่างตอนเด็กๆ นี่เราไม่รู้จักกันหรอกนะว่าวิศวกรเขาทำงานอะไรกันบ้าง อันที่จริงแล้วผมคิดว่า โครงการสะเต็มน่าจะเหมาะกับเด็กมัธยมต้นมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะจะช่วยทำให้เด็กเข้าใจว่าเขาไปไหวมั้ย เพราะมัธยมต้นยังไม่แยกสายวิทย์กับสายศิลป์ ดังนั้น เด็กควรจะได้รู้ว่าเขาเข้าใจวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นการสร้างแรงจูงใจ คือผมมองว่าเด็กทุกคนมีความสามารถ แต่เด็กจะมีความสนใจหรือไม่สนใจมากกว่า พอเราเปิดโอกาสให้เขารู้ว่า วิทยาศาสตร์เป็นอย่างนี้ คณิตศาสตร์เป็นอย่างนี้ เทคโนโลยีเป็นอย่างนี้ วิศวกรรมศาสตร์เป็นอย่างนี้ เขาอาจจะสนุกแล้วอยากเรียนก็ได้ แต่ถ้าคนที่ไม่ถนัดจริงๆ ก็จะได้รับว่า โอย น่าเบื่อมากเลย ไม่เอาดีกว่า ซึ่งแตกต่างจากเด็กมัธยมปลาย ส่วนใหญ่เขาจะมีไกด์มีมุมที่ชัดเจนของเขาแล้ว” กัปตันนักกิจกรรมแสดงความคิดเห็น
จากการมีโอกาสได้แบ่งปันให้สังคมผ่านกิจกรรมการศึกษา เราถาม “กัปตันอู” ว่า ทุกวันนี้สัดส่วนของทูตสะเต็มกับจำนวนนักเรียนทั่วประเทศเป็นอย่างไร อีกทั้งตัวเขาเองได้กำหนดเป้าหมายของกิจกรรมเพื่อสังคมชนิดนี้ไว้ในทิศทางใดบ้าง
"ผมคิดว่ายังไม่พอ เพราะความหลากหลายทางอาชีพยังไงก็ไม่พอ ลองคิดว่า ตอนนี้เรามีโรงเรียนถึง 7 หมื่นกว่าโรงทั่วประเทศ ถ้าผมจำไม่ผิดศูนย์สะเต็มมีอยู่ 13 ศูนย์เท่านั้น โอกาสที่เด็กจะได้รับก็มีน้อยลง ทูตสะเต็มมีเยอะ โอกาสที่เด็กจะเข้าถึงย่อมมีเยอะกว่า ยิ่งตอนนี้รัฐบาล คสช.ให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้เวลาเรียนน้อยลง เพิ่มการเรียนรู้ให้มากขึ้น ซึ่งโครงการสะเต็มนี้ตอบโจทย์ของรัฐบาล สสวท.ก็เลยถูกดึงให้เข้ามาร่วมนโยบายของรัฐบาล ในโอกาสนี้ ผมก็อยากเชิญชวนผู้ที่มีความรู้ความสามารถว่า ถ้าเรารักและภูมิใจในอาชีพเราคงอยากให้คนรู้จักว่าอาชีพของเราทำอะไร และทูตสะเต็มมันคือการทำตรงนี้ เพียงแต่เราไม่ต้องไปบอกเขาว่าคุณต้องเป็นอย่างนี้นะ เราแค่บอกว่าเราทำตรงนี้ คุณสนใจไหมล่ะ เปิดโอกาสให้เด็กได้รับและสัมผัสมุมมองใหม่ๆ ถ้าเขาสนใจเขาจะเข้ามาเอง คนที่ภูมิใจในอาชีพเชิญมาเป็นทูตสะเต็มได้ทุกคน ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ผมคิดว่ามุมนั้น ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำกิจกรรมในฐานะทูตสะเต็มนอกเหนือไปจากองค์ความรู้ในสาขาอาชีพนั้นๆ แล้ว แค่เพียงเป็นคนชอบแบ่งปัน เพราะคนที่มาทำหน้าที่ตรงนี้แน่นอนว่าต้องเสียสละเวลาส่วนตัวและอาจจะเลยไปเวลาในหน้าที่ประจำด้วย แต่เป็นความโชคดีของผมที่สายการบินนกแอร์สนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้ว ถือว่าเรามีวิสัยทัศน์เดียวกัน" กัปตันรุ่นใหญ่กล่าว พร้อมกับทิ้งท้ายว่า...แค่ได้ทำหน้าที่เปิดโอกาสให้เยาวชนหรือคนทั่วไปได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องการบิน ส่วนผู้รับจะรับหรือไม่นั้น เขาก็มีความสุขแล้ว...