ข่าว

ข้อมูลระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมา

ข้อมูลระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมา

27 พ.ค. 2559

เผยข้อมูลระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมา เสียหายมากแค่ไหน จำนวนเหยื่อเจ็บ ตาย ถูกรังสี อันตรายกับร่างกายมนุษย์อย่างไร

 
จำนวนเหยื่อที่บาดเจ็บล้มตาย-ถูกรังสี
 
 
                    ในช่วงทิ้งระเบิดนิวเคลียร์  เมืองฮิโรชิมา มีพลเรือนและทหารพำนักอยู่ประมาณ 3.5 แสนคน (พลเรือน 2.8-2.9 แสน ทหารราว 4.3 หมื่น) อานุภาพระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีหลายพันหรือหลายหมื่น และภายในสิ้นปีเดียวกันนั้น มีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตรังสีและผลสืบเนื่องอื่นๆ เช่น ไฟไหม้ ประมาณ 1.4 แสนคน เหยื่อระเบิดนิวเคลียร์รวมถึงเชลยศึกสหรัฐที่ถูกควบคุมตัวในฮิโรชิมา และชาวเกาหลีราว 2 หมื่นที่ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานในเมือง 
 
 
 
ชนิดระเบิดและลงที่ไหน 
 
 
                    เด็กน้อย หรือลิตเติลบอย ระเบิดยูเรเนียมจุวัสดุที่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ต่อเนื่องได้ประมาณ 50 กิโลกรัม แต่ทำปฏิกิริยาฟิชชั่นในการระเบิดครั้งนั้นจริงประมาณ 900 กรัม ระเบิดทำงานเหนือพื้นดินประมาณ 2 พันฟุต อันเป็นระดับความสูงที่ก่อความเสียหายสูงสุด (เสาอากาศยากิ ที่ใช้ในการจุดชนวนกลางอากาศ ออกแบบและจดลิขลิทธิ์โดยนักประดิษฐ์ญี่ปุ่น) ลิตเติลบอยระเบิดเหนือโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ห่างจากสะพานอาอิโออิ ซึ่งเป็นเป้าหมายประมาณ 1,000 ฟุต อานุภาพระเบิดเทียบเท่าระเบิดตามแบบประมาณ 1.6 หมื่นตัน 
 
 
 
เสียหายมากแค่ไหน 
 
 
                    อาคารบ้านเรือนในฮิโรชิมา ถูกทำลายหรือเสียหายเกินซ่อมแซมกว่า 90%  รังสีความร้อนจากลูกไฟยักษ์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 280 เมตร แผ่รัศมีกว่า 3.2 กิโลเมตรจากจุดระเบิดลง หรือไฮโปเซ็นเตอร์  เกือบทุกคนในรัศมี 1 กิโลเมตรเศษไม่รอด  มีตึกสร้างจากหินและคอนกรีตไม่กี่หลังที่ยังคงรูปอยู่ได้ อุณหภูมิความร้อนจากระเบิดสูงเกือบ 2 พันองศาเซลเซียส บนพื้นล่าง  ขวดแก้วหลอมละลาย กระเบื้องหลังคาโป่งพอง และหมอนรางรถไฟระเบิดเป็นไฟลุกไหม้ กระจกหน้าต่างที่อยู่ห่างออกไป 25 กิโลเมตรแตกกระจาย 
 
                    หลังระเบิดครั้งแรก ความกดอากาศที่ศูนย์กลางตกฮวบ เกิดลมแรงย้อนกลับยังจุดศูนย์กลาง จากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมง ฝุ่นผงจากแรงทำลายที่พวยพุ่งขึ้นไปในอากาศกว่า 16 กิโลเมตรเหนือเมืองฮิโรชิมา เริ่มร่วงลงมาเป็นฝนดำ ผู้รอดชีวิตที่กระหายน้ำดื่มน้ำฝนปนเปื้อนเหล่านี้เข้าไป 
 
 
 
ยังมีรังสีหลงเหลือในฮิโรชิมาหรือไม่ 
 
 
                    รังสีที่ปลดปล่อยจากการจุดระเบิดทันที เรียกว่า  รังสีเริ่มแรก ส่วนที่ยังอยู่บนพื้นผิวหลังการระเบิดเรียกว่า รังสีตกค้าง 
 
                    รังสีเริ่มแรกในฮิโรชิมาแม้เข้มข้นมาก แต่รังสีตกค้างสลายอย่างรวดเร็ว  ราวหนึ่งสัปดาห์หลังระเบิด รังสีคงเหลือจากระดับเริ่มต้นเพียง 1 ใน 1 ล้าน ปัจจุบันนี้ ไม่มีรังสีตกค้างจากระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาแล้ว 
 
 
 
อันตรายกับร่างกายมนุษย์อย่างไร 
 
 
                    รังสีทะลุทะลวงถึงเซลล์ในร่างกาย ทำความเสียหายแก่โครโมโซมและก่อผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง อาจไม่เห็นอาการทันที แต่ปรากฏในหลายวัน หลายสัปดาห์หรือหลายปีหลังจากนั้น 
 
                    ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการทิ้งระเบิด ผู้รอดชีวิตจำนวนมาก อาเจียน อ่อนเพลีย เป็นไข้ ท้องร่วง ปัสสาวะและอาเจียนเป็นเลือด ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 1945 เหยื่อจำนวนมากที่ตอนแรกไม่ได้เป็นอะไร  เริ่มแสดงอาการผิดปกติ เช่น ผมร่วง มีเลือดออกตามเหงือก เกิดจุดม่วงบนผิวหนัง หนาวสั่น และเลือดออกในลำไส้ อาการผิดปกติอื่นๆ ที่ปรากฏหลังจากนั้นยังได้แก่ แผลคีลอยด์ เป็นต้อ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย และมะเร็งอื่นๆ  ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงมากในช่วง 7-8 ปีหลังระเบิด กัมมันตรังสียังเป็นสาเหตุให้แท้งบุตรในครรภ์ และทารกศีรษะเล็กอีกด้วย  
 
 
 
จำนวนผู้รอดชีวิต
 
 
                    ผลสำรวจอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2558 พบว่ามีประชากร 1.87 แสนคนที่รัฐบาลถือว่าเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดเมื่อ 7 ทศวรรษก่อนและยังมีชีวิตอยู่ถึงปีที่แล้ว
 
 
 
---------------------
 
ที่มา : Latimes / Hiroshima Peace Memorial Museum; Radiation Effects Research Center, Hiroshima.
 
---------------------