เตือนเกษตรกรป้องกัน ‘หอย-ทาก-เพลี้ยไฟ’ ศัตรูร้ายของกล้วยไม้
กรมวิชาการเกษตร เตือนชาวสวนกล้วยไม้ รับมือ ‘หอย-ทาก-เพลี้ยไฟ’ พร้อมแนะวิธีป้องกัน กำจัด
จากสภาพอากาศที่เกิดช่วงนี้ ซึ่่งมีฝนตก อากาศร้อนชื้น ชนิดพืชที่ต้องระวังเพราะอาจได้รับผกกระทบหนักก็คือ กล้วยไม้ ที่พบปัญหาจากหอยหรือทาก และเพลี้ยไฟ
จึงขอให้เกษตรกรหมั่นสังเกตอาการ หากพบเกิน 10 ตัว/ตารางเมตร ให้ป้องกันกำจัด เพราะหากมันติดขึ้นไปในวัสดุปลูก จะกินราก ยอดอ่อน และดอก ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต และผลผลิตเสียหาย เช่นเดียวกับ เพลี้ยไฟ ให้สุ่ม 40 ช่อดอก โดยสุ่มช่อดอกที่มีดอกบานมากกว่า 4 ดอก
หอยหรือทาก การป้องกัน กรณีพบตามพื้น ให้พ่นด้วยนิโคลซาไมด์ โอลามีน อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือใช้เหยื่อพิษสำเร็จรูปเมทัลดีไฮด์ วางรอบโคนเสาวัสดุปลูก หรือใช้กากชา หว่านที่พื้น อัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่
กรณีพบในวัสดุปลูก น้อยกว่า 5 ตัว/ตารางเมตร ให้เก็บไปทำลาย ถ้าพบตั้งแต่ 5 ตัว/ตารางเมตรขึ้นไป ให้ป้องกันกำจัดโดยใช้เหยื่อพิษสำเร็จรูป เมทัลดีไฮด์ หรือกากชา ซาโปนินหว่าน อัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่ วางจุด (4 มุมและตรงกลาง) บนวัสดุปลูกก่อนการให้น้ำ
เพลี้ยไฟ การป้องกัน หากพบมากกว่า 10 ตัว จาก 40 ช่อดอก ให้พ่นสารฆ่าแมลงแบบสลับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ ทุก 15 วันครั้ง ดังนี้
- สไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่น 1 ครั้ง
- ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่น 3 ครั้ง ติดต่อกันทุก 5 วัน
- อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่น 3 ครั้งติดต่อกันทุก 5 วัน
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร