รู้จัก“พร้อมเพย์”โอนเงินง่ายๆ
“พร้อมเพย์”บริการทางการเงินโฉมใหม่ที่เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้โอนเงินได้ง่ายๆ แถมค่าธรรมเนียมยังถูกลง ขั้นตอนใช้บริการไม่ยุ่งยาก
“พร้อมเพย์–PromptPay” คืออะไร โอนอย่างไร ขั้นตอนการใช้ยากมั้ย ปลอดภัยหรือไม่ ร้อยแปดคำถามกับนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของระบบการเงินไทย ที่คนไทยต้องเรียนรู้ ตามการเปลี่ยนแปลงของบริการการเงินโลก
ระบบกลางของ “พร้อมเพย์” จะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ก่อนที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ซึ่ง“พร้อมเพย์”เป็นบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ที่ภาครัฐและธนาคารทั้งระบบร่วมกันพัฒนา เพื่ออำนวยความความสะดวกให้ประชาชน ลดการใช้เงินสด และเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
หัวใจหลักของ “พร้อมเพย์” มีเพียงหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเลขประจำตัวประชาชนแทนการระบุเลขที่บัญชีเงินฝากของผู้รับเงิน บัญชีเงินฝากซึ่งการลงทะเบียนมีหลายช่องทางตามความสะดวก คือ ตู้เอทีเอ็ม, Internet Banking, Mobile Banking หรือที่สาขาธนาคาร ซึ่งจะต้องจำให้ได้ดีว่าใช้หมายเลขใดผูกกับบัญชีใด หรือจะให้ดีก็สมัครเอสเอ็มเอสแจ้งยอดธุรกรรม แต่ก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
กรณีที่รับเงินสวัสดิการจากรัฐ แนะนำว่าควรใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนผูกกับบัญชีเงินฝากจะดีที่สุด เพราะการติดต่อราชการจะใช้บัตรประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการผูกบัญชีได้ตลอดเวลา
“พร้อมเพย์” แตกต่างจากการใช้เลขบัญชีเงินฝากแบบเดิมหรือไม่อย่างไร ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาระบบ e-Payment หนึ่งในผู้พัฒนาโครงการนี้อธิบายว่า ไม่แตกต่าง ซึ่งเมื่อใช้ Mobile Banking เข้ามาในระบบผ่านธนาคาร ของเดิมหากจะสั่งโอนเงินต้องใส่เลขที่บัญชี แต่ระบบใหม่นอกจากเลขที่บัญชีแล้ว ก็สามารถใส่อย่างอื่นเพื่อระบุตัวตนได้ด้วย
ถามว่าต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหรือไม่ บอกเลยไม่ต้อง หากตื่นมาวันพรุ่งนี้จะมีช่องให้ใส่เลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน แทนที่จะต้องใช้เลขที่บัญชีอย่างเดียว จากทำธุรกรรมผ่านเลขที่บัญชีธนาคาร ก็เป็นผ่านหมายเลขประจำตัวอื่นๆ เช่น โทรศัพท์หรือเลขบัตรประจำประชาชน
เช่นเดียวกับเรื่องความปลอดภัย ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนให้นึกภาพเวลาโอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม จากเดิมใส่เลขที่บัญชี ก็เปลี่ยนมาใส่เลขประจำตัวอื่นๆ คือAny IDดังนั้น โครงสร้างเหมือนเดิม ตู้เอทีเอ็มถ้าเจาะไม่ได้ก็ยังเจาะไม่ได้เหมือนเดิม ปัจจุบันที่เห็นเรื่องการโกงทั้งหลายนั้นไม่ใช่ข่าวถูกเจาะระบบคอมพิวเตอร์ธนาคารแต่เป็นเรื่องการหลอกลวงกันเองข้างนอกระบบธนาคารต่างหาก
ถ้าเจาะเข้ามาได้ธนาคารเจ๊งหมดแล้วแต่ละธนาคารป้องกันกันที่แน่นหนา ที่โกงกันคือโกงนอกธนาคาร เช่น โทรหลอกให้โอนเงิน หรือไปหลอกเอารหัสผ่านในเว็บต่างๆ แบบนั้นระบบไม่ได้ถูกเจาะ ปัจจุบันใช้ระบบนี้มา 20 ปีแล้ว ทุกวันมีเงินผ่านหลาย 1,000 ล้านบาท ก็ยังไม่เคยถูกเจาะแม้แต่ครั้งเดียว