ข่าว

ใช้สารในเนื้อหมูอีกแล้ว!!!

ใช้สารในเนื้อหมูอีกแล้ว!!!

22 มิ.ย. 2559

โดย - ดลมนัส กาเจ

                 ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เกษตรตกรเห็นแก่ได้และไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยการใช้สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู ส่วนพ่อค้ามักใช้สารบอแรกซ์ เพื่อป้องกันไม่ให้หมูเน่าเสียและให้มีเนื้อกรอบ โดยเฉพาะในหมูบด อย่างล่าสุดกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ตรวจยึดเนื้อหมูในตลาดสี่มุมเมือง ย่านรังสิต จ.ปทุมธานี หลังจากที่ผู้บริโภคร้องเรียนมีการใช้บอแรกซ์ในเนื้อหมูแดง ผลการตรวจค้น 36 แผง พบเบื้องต้นใช้สารบอแรกซ์ 8 แผง

                ความจริงกรมปศุสัตว์เอาจริงเอาจังกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร หรือหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง รวมถึงการใช้สารบอแรกซ์ด้วย เนื่องจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค แต่ระยะหลังนี้เงียบไป ทำให้เกษตรกรบางกลุ่มรวมถึงพ่อค้าที่มักง่าย ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงและบอแรกซ์อีก

               การใช้สารเร่งเนื้อแดงเสมือนหนึ่งเป็นทางลัดที่จะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพซากให้เนื้อสุกรมีปริมาณเนื้อแดงมาก มีไขมันน้อย ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ที่นอกเหนือจากวิธีการคัดเลือกสายพันธุ์สุกรที่มีลักษณะที่ดีมาเลี้ยง หรือการพัฒนาสูตรอาหารที่มีโภชนาการในระดับที่สมดุล เหมือนกับฟาร์มที่ดีและได้มาตรฐาน แต่เป็นทางลัดที่ถูกห้ามและเต็มไปด้วยมหันตภัยทั้งตัวสุกรเองคือมีอาการตื่นตกใจง่าย กล้ามเนื้อขาสั่น และอาจช็อกถึงตายได้ และอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรงด้วย

              สารเร่งเนื้อแดงที่เกษตรกรบางรายใช้นั้น เป็นสารกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ อาทิ เคลนบูเทอรอล และซัลบูทามอล และแรคโตพามีน เป็นเคมีภัณฑ์ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2525 และพ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคหากได้รับสารนี้ที่ตกค้างอยู่ในเนื้อสุกร

              อย่าลืมว่าประเทศไทยเราเป็นผู้ผลิตอาหารลำดับต้นๆ ของโลก มีสินค้าเกษตรและอาหารหลายรายที่ไทยส่งเป็นอันดับ 1 อาทิ ข้าว กุ้งแช่แข็ง เป็นต้น เนื้อหมูและไก่ก็ส่งออกในจำนวนที่ไม่น้อยเช่นกัน แต่คราวนี้เหตุการณ์ที่เกิดมาจากพ่อค้าที่กลัวว่าหมูจะเน่าเร็วเลยใช้สารบอแรกซ์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะขาดทุนได้โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้บริโภค

             ในส่วนของเกษตรกรเริ่มน้อยลงแล้วและจากการสอบถามเกษตรกรที่ทำอาชีพโดยสุจริต พบมีเกษตรกรที่อยู่ในแวดวงการเลี้ยงสุกรต่างไม่สบายใจครับ ที่มีเกษตรกรบางกลุ่มบางพื้นที่ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกร เพราะนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในซากสุกรที่วางขายตามตลาดแล้ว ยังทำให้ภาพรวมถึงผู้เสียงสุกรถูกมองในแง่ลบจากสังคม

             หากปล่อยให้ผู้เลี้ยงสุกรแม้จะมีเพียงบางส่วนลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรโดยรวมของไทยครับ ผู้บริโภคต้องระวังด้วย และให้เกตง่ายๆ คือเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงนั้นมีลักษณะสีของเนื้อที่จะมีสีแดงเข้ม มีสัดส่วนที่เป็นมัน 30% เนื้อแดง 70% และเนื้อที่หั่นทิ้งไว้จะมีลักษณะค่อนข้างแห้ง ไม่มีแมลงวันตอม

            หากเป็นเช่นนี้ต้องสันนิฐานว่าเป็นเนื้อหมูมีสารเร่งเนื้อแดงหรือสารอันตรายอื่นๆ ปนเปื้อนอยู่อย่างแน่นอน ฉะนั้นผู้บริโภคต้องเลือกซื้อเนื้อหมูที่สัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ครับ!