
’ขี้ตุ่น‘ใบใช้พอกแก้คางทูม
’ขี้ตุ่น‘ใบใช้พอกแก้คางทูม
จะพบเห็นต้น “ขี้ตุ่น” ได้ตามป่าละเมาะข้างทาง มีประโยชน์หลายอย่าง เริ่มจากใบใช้พอกแก้คางทูม รากนำมาต้มดื่มแก้หวัด แก้ร้อนใน ต้นมีรสขมต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้อง ขับเสมหะ สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานอาจทำให้แท้งได้
"ขี้ตุ่น" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า helicteres angustifolia l. มีการเรียกชื่อสมุนไพรชนิดนี้แตกต่างกันออกไป พื้นที่อีสานตอนบน เรียกว่า ปอขี้ไก่ ภาคเหนือเรียกว่า หญ้าหางอ้นหรือป่าเหี้ยวหมอง ทางตะวันออกเรียกว่า เข้ากี่น้อย และเรียก ขี้อ้น ในพื้นที่ตะวันตกของประเทศไทย เป็นต้น
มีลักษณะเป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก ทุกส่วนมีขนเป็นรูปดาว ปกคลุม หนาแน่น ใบเดี่ยว รูปวงรี กว้าง 7-10 ซ.ม. ยาว 14-20 ซ.ม. ดอกช่อ ออกดอกที่ซอกใบ ดอกย่อยหลายจุด กลีบดอกสีม่วงอ่อน ผลแห้งแตก รูปขอบขนาน มีขนสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดจำนวนมาก
สามารถพบขี้ตุ่นได้ทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณป่าเต็งรัง และจะเห็นออกดอกและติดผลช่วงเดือนเมษายนสิงหาคม ส่วนในต่างประเทศพบได้ในจีน อินเดีย พม่า และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่พม่าไปจนถึงฟิลิปปินส์ ในตำรับยาไทยมีการนำเอา รากขี้ตุ่น มาผสมกับรากตูมขาว รากชะมวง และลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้มน้ำดื่ม เป็นยาระบาย
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเวียนสลับ รูปรี ใบกว้างยาว 2x5 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายเป็นแหลมมีติ่ง ขอบใบหยัก
ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวแต่รวมกันเป็นช่อตามซอกใบ มี 5 กลีบ สีชมพูอ่อน ปลายกลีบตัด ตามกลีบมีขนสีน้ำตาลปกคลุม
ผล ทรงกระบอกแกมรูปรี ผลแก่สีน้ำตาลอมเหลือง พอแห้งแตกเป็นแนวยาว
ขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดเต็มวัน