ค้าสัตว์ปีกจ๊าก ถูกเก็บภาษี1900%
9 สมาคมผู้ผลิตสัตว์ปีก บุกสภา จี้ สนช. ทบทวนกฎหมายเก็บอากรฆ่าสัตว์ปีก ตัวละ 2 บาท ชี้ส่งผลกระทบผู้บริโภค-อุตสาหกรรมสัตว์ปีก
เครือข่ายสมาคมผู้ผลิตสัตว์ปีก 9 สมาคม อาทิ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้เลียงไก่เพื่อการส่งออก สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก นำโดย นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายก สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เข้ายื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รัฐสภา เพื่อคัดค้านการผลักดันร่างพ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อ สัตว์ พ.ศ... ออกเป็นกฎหมาย เนื่องจากมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไก่ของไทย
นายวีระพงษ์ กล่าวว่า การเพิ่มอัตราอากรฆ่าสัตว์ปีกเป็นตัวละ 2 บาท จากเดิมตัวละ 10 สตางค์ เพิ่มขึ้นถึง 1900% ทำ ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิต แม้ต่อมารัฐจะมีการยกเว้นอัตราอากรตัวละ 10 สตางค์เพื่อส่งเสริมการส่งออก แต่ไทยก็ยังมีต้นทุนการผลิตไก่ตัวละ 34-35 บาท ขณะที่ประเทศบราซิลมีต้นทุนการผลิตเพียงตัวละ 25 บาท ขณะเดียวกัน ไก่หนึ่งตัวหนัก 2 กิโลกรัม เก็บค่าอากร 2 บาท แต่หมูหนึ่งตัวหนัก 100 กิโลกรัม เก็บค่าอากรเพียง 15 บาท ซึ่งทั้ง 9 สมาคมจึงเห็นว่าหากปล่อยให้มีการผลักดันร่างพ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯจะส่ง ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงที่ต้องแบกรับภาระราคาไก่เพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบในหลายด้านตามมา อาทิ ขีดความสามารถการแข่งขันการส่งออกไก่กับต่างประเทศ ปัญหาไก่ไม่ได้คุณภาพเพราะอาจมีการหลีกเลี่ยงภาษีโดยนำไก่เข้าโรงเชือดที่ ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงปัญหาการควบคุมโรคระบาดในไก่ และกระทบต่อการอยู่รอดของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในที่สุด
ทั้งนี้ ภายหลังจากการรับหนังสือ นายพรเพชร ระบุว่า จะส่งเอกสารไปยังประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้พิจารณาทบทวนอีกครั้ง ก่อนจะนำเข้าสู่วาระประชุมสนช.ต่อไป.