
พลิกผืนนาปลูกมันเทศ พืชต้นทุนต่ำ สร้างรายได้หลักล้าน!
หมอดินอาสา จ.พระนครศรีอยุธยา พลิกผืนนาหันปลูกมันเทศแทน สร้างรายได้งาม และกระจายแนวคิดนี้สู่เพื่อนเกษตรกรอื่นๆ
ภัยแล้งที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรหลายพื้นที่ประสบปัญหา เพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำมากไม่สามารถทำได้ แต่หมอดินอาสา จ.พระนครศรีอยุธยา ได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จากปลูกข้าว หันปลูกมันเทศแทนซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย สามารถสร้างรายได้อย่างงาม และได้กระจายแนวคิดนี้สู่เกษตรกรรายอื่น
นายวิภาค ข้าวหอมหาง หมอดินอาสาประจำตำบลทับน้ำ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า แต่เดิมตนเองยึดอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก แต่ช่วงหน้าแล้งข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำเยอะ ทำให้ต้นทุนผลิตสูง จึงมีแนวคิดหาพืชทุนต่ำ ดูแลง่าย มันเทศจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพืชที่ใช้น้ำน้อย ก่อนเริ่มเพาะปลูกตนเองได้เข้าไปขอคำปรึกษากับทางสถานีพัฒนาที่ดินพระนครศรีอยุธยา โดยเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการปรับปรุงบำรุงดิน และใช้นวัตกรรม สารเร่งซุปเปอร์ พด. นำมาผลิตเป็นสารชีวภัณฑ์ ใช้แทนสารเคมี เป็นการลดต้นทุนทางการผลิต
หมอดินวิภาค กล่าวอีกว่า แต่ก่อนมีพื้นที่ปลูกข้าว 60 ไร่ ผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพขายได้ 3,750 บาท ต่อไร่ ซึ่งหักต้นทุนการผลิตข้าวแล้วทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่ภายหลังเปลี่ยนมาปลูกมันเทศ เต็มพื้นที่ทั้ง 60 ไร่ และบำรุงดินตามคำแนะนำของกรมพัฒนาที่ดิน ทำให้มีรายได้เฉลี่ย 32,000 บาท ต่อไร่ ประกอบกับต้นทุนการผลิตต่ำมาก เพราะใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำเป็นปุ๋ย และทำน้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย เพื่อเป็นปุ๋ยทางดินและทางใบให้กับพืช
"หน่อกล้วยจะมีฮอร์โมนออกซิน ซึ่งจะช่วยเร่งการเจริญเติบโต ติดตาและออกผลได้ดี มีวิธีทำง่ายๆคือ เตรียมถังน้ำสะอาด 1 ใบ ใส่น้ำ 50 ลิตร เทสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ลงในน้ำแล้วคน 5 นาที ให้จุลินทรีย์ทำการย่อยสลาย ตามด้วยกากน้ำตาล 10 กิโลกรัม คนให้เข้ากัน นำหน่อกล้วยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ 40 กิโลกรัม ผสมลงในถัง คนให้เข้ากัน ปิดฝาไม่สนิทเพื่อให้แก๊สที่เกิดจากการหมักระบายออกได้ แล้วเก็บไว้ในที่ร่ม คนทุกวันเพื่อกระตุ้นเชื้อจุลินทรีย์ให้ทำงาน ใช้ 7-15 วัน เกษตรกรก็นำไปใช้ได้โดยผสมกับน้ำ ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง"
นอกจากนี้ สถานีพัฒนาที่ดินอยุธยายังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหว่านปุ๋ยพืชสดระหว่างพักหน้าดิน เพื่อไถกลบจะช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน ทำให้ปลูกมันเทศได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยที่ต้นทุนผลิตต่ำ เพียงไร่ละไม่เกิน 1,000 บาท เท่านั้น