ข่าว

 “ขนมซั้ง"ของดีปักษ์ใต้ นิยมไกลถึง“มาเลย์”

“ขนมซั้ง"ของดีปักษ์ใต้ นิยมไกลถึง“มาเลย์”

06 ก.ค. 2559

โดย - สุพิชฌาย์ รัตนะ

              “ขนมซั้ง” ขนมพื้นบ้านปักษ์ใต้ที่มีรูปทรงสามเหลี่ยมสีเหลืองใสคล้ายข้าวต้มสามเหลี่ยม จะกินเปล่าๆ ก็อร่อยนุ่มลิ้น หรือจะเพิ่มความหวานจิ้มน้ำตาลทรายอร่อยได้อีกแบบ หรือจะให้ถึงใจต้องนำใส่ในน้ำเชื่อมเติมน้ำแข็งลงไปรับรองจะติดใจ

             “ชุมชนบ้านคลองคล้า” หมู่ 1 ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง จ.สงขลา ที่นี่เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายขนมซั้งรายใหญ่ที่ไม่ได้ขายในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งไปขายต่างแดน โดยเฉพาะมาเลเซีย สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเป็นกอบเป็นกำ ล่าสุด ชาวบ้านได้ร่วมกันตั้ง “กลุ่มขนมซั้งบ้านคลองคล้า” โดยมี “ทัศนีย์ ศรีสุวรรณี” เป็นประธานกลุ่ม ร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการสร้างแบรนด์สินค้าให้ชุมชน

             ทัศนีย์ บอกว่า ชุมชนแถบนี้ทำขนมซั้งขายมากว่า 30 ปี จากที่ขายในชุมชน ขยายตลาดไปยังอำเภอและจ.สงขลา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญพบว่านักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เข้ามาเที่ยวนิยมกินกันมาก จนมีพ่อค้าแม่ค้าติดต่อสั่งไปขายในฝั่งมาเลเซีย ทำให้ชาวบ้านเริ่มปรับตัวจากที่ต่างคนต่างทำ หาลูกค้าเอง ก็หันมารวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อเป็นกลไกต่อรองการตลาด  ปัจจุบันมีชุมชน 2 แห่งที่เป็นแหล่งผลิตหลัก คือบ้านเกาะใหญ่ หมู่ 9 และบ้านคลองคล้า หมู่ 1 ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง จ.สงขลา ที่แทบทุกหลังคาเรือนมีรายได้จากการทำขนมซั้ง

             ประธานกลุ่ม กล่าวอีกว่า “ขนมซั้ง” ทำมาจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบไผ่เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก มัดด้วยเชือกฟาง นำไปต้มจนสุกก่อนนำมากิน ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน เรียกว่า “จีซั้ง” ขณะที่ภาคกลางเรียกข้าวต้มน้ำวุ่น ทุกวันนี้ ขนมซั้งหากินได้ยากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะใบไผ่หายากขึ้น

             สุนิสา เพ็งแก้ว ผู้ผลิตจำหน่ายขนมซั้งรายใหญ่ บ้านคลองคล้า หมู่ 1 บอกว่า ก่อนนี้ชาวบ้านจะทำขนมและนำมาขายให้พ่อค้าในชุมชนเพื่อส่งไปขายให้พ่อค้าที่อ.หาดใหญ่ ก่อนส่งออกไปขายที่มาเลเซีย แต่หลังจากออเดอร์ขนมเพิ่มมากขึ้นจึงปรับวิธีจัดการโดยหันมารับจ้างห่อแทน ซึ่งจะมีตัวแทนแต่ละชุมชนเป็นผู้ลงทุนดำเนินการเองแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้การจัดการง่ายขึ้น เร็วขึ้นและผลิตขนมได้ตามออเดอร์ ทั้งเป็นการกระจายรายได้เข้าถึงทุกกลุ่ม รวมถึงผู้สูงอายุที่อยู่บ้านก็รับจ้างห่อขนมมีรายได้เป็นของตัวเองด้วย

            “ทุกวันนี้จะลงทุนเองโดยเฉลี่ยผลิตวันละ 1,000 กิโลกรัม แต่ละวันจ้างชาวบ้านห่อครั้งละ 10 กิโลกรัม ราคาจ้าง 150 บาท โดยผู้ที่มีประสบการณ์จะทำได้ถึงวันละ 50 กิโลกรัม คิดเป็นรายได้ไม่น้อยกว่า 700 บาทต่อวัน เมื่อห่อเสร็จก็นำขนมมาส่งเพื่อเข้าสู่การต้มซึ่งก็จะมีชาวบ้านอีกกลุ่มที่รับจ้างต้มคิดเป็นรายวันไม่น้อยกว่า 400-500 บาท” สุนิสา บอกถึงการแนวทางบริหารจัดการที่ลงตัว

             ด้าน ณัฎฏิยากรณ์ อุไรรัตน์ ชาวบ้านหมู่ 1 ต.บางเหรียง ที่รับจ้างห่อขนมซั้งมานกว่า 10 ปี บอกว่า ก่อนนี้เคยทำขนมเองทั้งการห่อและต้มขนมขาย แต่ระยะหลังหันมารับจ้างห่ออย่างเดียว ทำให้มีรายได้ที่มากขึ้นเพราะไม่ต้องทำหลายขั้นตอน

            ขนมซั้งบ้านคลองคล้าแห่งนี้สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์หลักคือไม่ใช้เตาแก๊ส แต่จะใช้ไม้ฟืนในการต้มทำให้ขนมสุกทั่วถึงและมีกลิ่นหอม เหตุนี้ทำให้ขนมอร่อยและถูกใจผู้บริโภค อีกทั้งที่นี่ยังแบ่งขายปลีกด้วยราคาพวงละ 20 บาท

            ใครอยากลิ้มลองขนมซั้งสดใหม่อร่อยจากหม้อต้มแวะไปอุดหนุนได้ที่บ้านคลองคล้า หมู่ 1 หรือติดต่อโทรศัพท์ 08-9295-0907 และ 08-7291-4507 ได้ทันที