ข่าว

"แห้วหมู"สำคัญมากกว่าความเป็นหญ้า!

"แห้วหมู"สำคัญมากกว่าความเป็นหญ้า!

10 ก.ค. 2559

โดย - นายสวีสอง

         เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนคงรู้จัก “หญ้าแห้วหมู” และมองว่ามันเป็นวัชพืชที่กำจัดยาก หนึ่งนั้นเพราะมันกระจายพันธุ์เร็วมาก แต่ทราบหรือไม่ว่า ในตำรายาแผนโบราณของไทยและต่างประเทศนั้น มีการใช้หญ้าชนิดนี้เป็นยาสมุนไพรมานานแล้ว
          มีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น หญ้าขนหมู (แม่ฮ่องสอน), ซาเช่า(แต้จิ๋ว) และซัวฉ่าว(จีนกลาง)
          จัดอยู่ในจำพวกหญ้า มีชื่อวิทยาศาสตร์  Cyperus rotundus L.สูง 10-15 ซม.ลำต้นอยู่ใต้ดิน มีลักษณะเป็นหัวกลม สั้น มีตามาก สีดำ สามารถแทงไหลไปได้ไกล แล้วเกิดหัวใหม่ขึ้นเป็นต้นเหนือดิน

          ใบ เล็กยาวคล้ายรูปหอก กลางใบเป็นร่อง ผิวใบเรียบสีเขียวเข้ม

          ดอก สีน้ำตาล เกิดที่ปลายยอด เป็นก้านช่อดอกแล้วแตกเป็นช่อย่อยอีกหลายช่อ  

          ผล สีน้ำตาลหรือดำ เติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด

          ขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด หรือหัวใต้ดิน
      

          มี 2 ชนิด คือ แห้วหมูใหญ่ และแห้วหมูเล็ก แตกต่างกันในเรื่องความสูงของต้น ดอก สังเกตง่ายๆคือแห้วหมูใหญ่มีดอกสีน้ำตาลแดง หัวมีรสเผ็ดร้อน ส่วนแห้วหมูเล็กดอกคล้ายดอกบานไม่รู้โรย สีขาว หัวมีรสหวานเย็นๆและเผ็ดเล็กน้อย

          ทว่า นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ทั้ง 2 ชนิด โดยส่วนที่นำมาใช้ปรุง ได้แก่ ส่วนหัว ต้น ราก และใบ แต่ที่นิยมมากที่สุด คือส่วนหัว มีรายงานฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการหดเกร็งและการบีบตัวของลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อมาลาเรีย เชื้อไวรัส แก้ไข้ แก้ปวด ต้านมะเร็ง แก้อาเจียน เป็นต้น

          ดังในตำรับยาอายุรเวทของอินเดีย จึงนำแห้วหมูมาใช้เพื่อรักษาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่นเดียวกับชาวเปอร์เซีย ชาวอาหรับ ที่เอาส่วนหัวของมันมาตำผสมกับขิงและกินกับน้ำผึ้ง แก้บิด แก้ปวดท้อง ขับลม
          ส่วนตำรับยาไทย สรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ ลดความดัน ลดความอ้วน บำรุงครรภ์ แก้ธาตุพิการ ช่วยเจริญอาหาร ขับพยาธิ ขับลม ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะขัด แก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้บิด แก้กระษัย แก้คลื่นเหียน อาเจียน ช่วยระงับอาการหอบหืด และเป็นยาอายุวัฒนะ
          ปัจจุบันมีการนำหญ้าแห้วหมูไปเข้าตำรับยาแก้ปวด แก้โรคกระเพาะ แก้ปวดประจำเดือน และเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีการวิจัยพบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง
          อีกทั้ง ยังเป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบ มีฤทธิ์ช่วยลดความเจ็บ ช่วยผ่อนคลายอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดฝีเจ็บคอและอาการท้องเสีย
         ล่าสุด เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยพบว่า หญ้าแห้วหมูมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน และมีฤทธิ์ปกป้องสมอง