"หญ้าแพรก"สรรพคุณแก้สารพัดโรค
โดย - นายสวีสอง
“หญ้าแพรก” ที่เรามักพบขึ้นเองตามที่ว่างริมถนน หรือบริเวณสนามหญ้า เชื่อว่าทุกคนคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะในช่วงวัยเป็นนักเรียน เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวันไหว้ครู แต่รู้หรือไม่ว่า หญ้าแพรกไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ใช้ในวันไหว้ครูเท่านั้น ทว่า ยังพกพาสรรพคุณทางยามาเพียบ
เป็นวัชพืชที่มีประโยชน์ต่อการรักษาหน้าดิน ทนต่อการเหยียบย่ำฟื้นตัวและแพร่พันธุ์เร็วมาก จากลักษณะที่ดีนี้เองจึงนิยมเอาหญ้าแพรกมาทำพิธีมงคลในวันครู เพื่อเป็นปริศนาสอนศิษย์ หรือกุศโลบายที่ครูอาจารย์สมัยโบราณวางบรรทัดฐานให้ครูและศิษย์พึงปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพไม่ให้เห็นว่าใครสูงหรือต่ำ หญ้าแพรกจึงได้ชื่อเป็นอาภรณ์ของแผ่นดิน
เป็นพรรณไม้ประเภทเดียวกับหญ้า จัดอยู่ในวงศ์ GRAMINEAE ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cynodon dactylon Pers.ชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นหญ้าแผด (ภาคเหนือ), หนอเก่เค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), และทิซั่วเช่า (จีน) ลำต้นแตกกิ่งก้าน เลื้อยปกคลุมดินยาวราว 1 เมตร ลำต้นที่ชูตั้งขึ้นสูง 4-12 นิ้ว ลักษณะลำต้นเป็นข้อ และมีรากงอกออกมา
ใบ ออกที่ข้อลำต้นตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นเส้นยาว โคนใบมีขนสั้น ปลายใบแหลมยาว ขนาดของใบมีความยาวประมาณ 1-6 ซม. กว้างประมาณ 1-3 มม.
ดอก ออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีช่อดอกย่อยอีกประมาณ 3-6 ช่อ ลักษณะของช่อดอกย่อย เป็นเส้นมีสีเขียวอมเทา หรือสีม่วงยาวประมาณ 1-2 นิ้ว และลักษณะของดอกย่อยจะออกเรียงกันเป็นแถว
ผล เมื่อดอกร่วงก็จะติดผล มีขนาดยาวประมาณ 1 มม.
ขยายพันธุ์ ด้วยการใช้เมล็ด กิ่ง และราก ต้องการความชื้นค่อนข้างมาก
ที่กล่าวมาว่าพกพาสรรพคุณทางยามาเพียบนั้น ส่วนที่ใช้ก็คือ ลำต้น และราก เริ่มจากสรรพคุณ ลำต้น ใช้ลำต้นสด ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ ขับลม อาเจียนเป็นเลือด แก้อัมพาต ปวดเมื่อยกระดูก แก้โรคเบาหวาน ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ริดสีดวงทวาร หรือใช้ลำต้นสดนำมาตำให้คั้นเอาน้ำและกาก ทา หรือพอกแก้ปวดข้อ ช่วยห้ามเลือด พิษไข้มีผื่นต่าง ๆ เช่น เป็นหัด เหือด อีสุกอีใส ดำแดง เป็นต้น
ส่วนราก ใช้รากแห้งประมาณ 60 กรัมนำมาต้ม หรือบดให้ละเอียด ใช้กินเป็นยาแก้โรคหนองเรื้อรัง ขับปัสสาวะ แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ซิฟิลิสในระยะออกดอก ริดสีดวงทวารมีเลือดออก และเป็นยาแก้บวมน้ำ เป็นต้น
ขอบคุณที่มาจาก ความรู้พื้นฐานเภสัชกรรม ตำราแพทย์แผนโบราณ www.kmitl.ac.th