ข่าว

อินโดนีเซียจมเรือประมงต่างชาติ 60 ลำฉลองวันเอกราช

17 ส.ค. 2559

ทางการอินโดนีเซียจม เรือประมงต่างชาติ ที่เข้าไปลอบจับปลาผิดกฎหมายหลายสิบลำ ฉลองวันชาติ คาดมีเรือจีนรวมอยู่ด้วย

 

          กระทรวงประมงและกิจการทางทะเลและกองทัพอินโดนีเซีย ทำการจมเรือประมงต่างชาติ 60 ลำใน 8 จุดทั่วประเทศ รวมถึงนอกเกาะนาทูนา  เพื่อฉลองวันประกาศเอกราช ( 17 ส.ค.)  แต่พิธีการในครั้งนี้ต่างไปจากครั้งก่อน ที่มักมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ และเห็นภาพเรือประมงถูกระเบิดเป็นเศษเล็กเศษน้อย แต่การทำลายรอบล่าสุด ใช้วิธีเจาะรูให้เรือจมลงเพื่อลดความเสียหายแก่สภาพแวดล้อม และใช้เป็นปะการังเทียม นอกจากนี้ ยังกระทำแบบเงียบๆ เจ้าหน้าที่ห้ามสื่อมวลชนเข้าทำข่าว อีกทั้งไม่มีการเปิดเผยสัญชาติของเรือที่ถูกทำลาย

          อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ รัฐบาลระบุว่า มีแผนจมเรือ 71 ลำ จากฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซียและจีน ฉลองการประกาศเอกราชครบ 71 ปี ขณะสื่อท้องถิ่นรายงานว่า อินโดนีเซียได้จมเรือประมง 8 ลำไปก่อนแล้วเมื่อวันจันทร์

          นางซูซี ปุดเจียสตูติ รัฐมนตรีประมงและกิจการทางทะเลอินโดนีเซีย กล่าวว่าการทำลายเรือ หวังผลป้องปราม และเชื่อว่าเป็นการส่งสารอย่างหนักแน่นถึงต่างชาติและเรือประมงของพวกเขามากพอแล้ว การจมเรือประมงเถื่อนในอนาคต ก็จะกระทำในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า อินโดนีเซียผ่อนปรนจุดยืนการทำประมงผิดกฎหมาย

 

 

       

อินโดนีเซียจมเรือประมงต่างชาติ 60 ลำฉลองวันเอกราช

( การระเบิดทำลายเรือประมงต่างชาติครั้งก่อน / ภาพ Antara ) 

 

          นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เข้ารับตำแหน่งเมื่อตุลาคม 2557 อินโดนีเซียระเบิดทำลายเรือประมงต่างชาติจากจีน มาเลเซีย ประเทศไทย ฟิลิปิปนส์์และเวียดนาม จำนวนกว่า 170 ลำแล้วไม่รวมการจมเรือรอบล่าสุด ภายใต้นโยบายปกป้องทรัพยากรทางทะเล ที่ต้องสูญเสียไปปีละ 2 หมื่นล้านจากการลอบจับปลาผิดกฎหมาย ขณะในระยะหลังมองว่ารัฐบาลประธานาธิบดีโจโกวี ยิ่งย้ำท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องนี้ เพื่อต้องการแสดงให้เพื่อนบ้าน รวมถึงจีนเห็น ว่าสามารถควบคุมหมู่เกาะ 1.7 หมื่นแห่งได้

         เรือประมงต่างชาติจำนวนมากถูกจับยึดได้นอกเกาะนาทูนา น่านน้ำในทะเลจีนใต้ที่อินโดนีเซียถือเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ขณะรัฐบาลปักกิ่ง จากที่เคยอ้างว่า น่านน้ำแถบนั้นเป็นแหล่งจับปลาของชาวประมงจีนมาช้านาน เวลาที่มีปัญหากระทบกระทั่งกัน แต่ในระยะหลัง เริ่มอ้างด้วยว่าจีนมีดินแดนทับซ้อนกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซียใกล้หมู่เกาะนาทูนา แม้อยู่ห่างจากแผ่นดินจีนเกือบ 2.000 กิโลเมตร