ข่าว

นำร่องป่าชายเลน จัดที่ทำกินให้ชุมชน "ปากพนัง"

นำร่องป่าชายเลน จัดที่ทำกินให้ชุมชน "ปากพนัง"

05 ก.ย. 2559

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

                  การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำและจัดการแก้ไขปัญหาที่ราษฎรผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกิน โดยนายกรัฐมนตรีมีนโยบายและสั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ที่คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน ซึ่งมีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักจำนวน 10 แห่งในท้องที่ 6 จังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อที่รวมกว่า 31,395 ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 28,156 ไร่ และพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน 3,239 ไร่ ที่จะนำมามอบให้ราษฎรที่ยากไร้ใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป

                  “สำหรับการมอบหนังสืออนุญาตให้ จ.นครศรีธรรมราชในวันนี้ เป็นจังหวัดแรกของการจัดหาที่ดินป่าชายเลนที่เสื่อมสภาพเพื่อนำไปจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเป็นของชุมชนห้ามมีการซื้อขาย ซึ่งมีเป้าหมายภาพรวมที่ได้รับการผ่อนผันยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งห้ามใช้ป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไปจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน จากจำนวนพื้นที่ป่าชายเลนทั้งสิ้น 2.7 หมื่นไร่ โดยแบ่งจัดสรรให้ราษฎรผู้ยากไร้ 11,000 ไร่และกันพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อรักษาระบบนิเวศอีก 16,000 ไร่ และในวันนี้ได้มีพิธีมอบหนังสืออนุญาตจำนวน 3,964 ไร่ ที่เหลืออีกประมาณเกือบ 7 พันไร่กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและจ.นครศรีธรรมราช เร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนการขออนุญาตให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบโดยให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 นี้”

                  พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน จ.นครศรีธรรมราช แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า  ประกอบด้วยหนังสืออนุญาตจำนวน 3 ฉบับ คือ 1.ป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนปากน้ำ จำนวน 1,527-1-29 ไร่ 2.ป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนปากพนังฝั่งตะวันตก จำนวน 583-3-40 ไร่และ 3.ป่าสงวนแห่งชาติปากพยา-ปากนคร จำนวน 1,853-0-0 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 3,964-0-69 ไร่ ซึ่งต่อจากนั้นกระทรวงมหาดไทย โดย จ.นครศรีธรรมราช จะนำพื้นที่ดังกล่าวไปจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช.ต่อไป

                    ขณะที่ สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยระบุว่าในอดีต จ.นครศรีธรรมราช เคยมีป่าชายเลนประมาณ 382,500 ไร่ แต่ด้วยเงื่อนไขปัจจัยและแรงกดดันต่างๆ ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ปัจจุบัน จ.นครศรีธรรมราช เหลือป่าชายเลนเพียง 80,922 ไร่เท่านั้น ซึ่งจากการ ทช.นำร่องโดยนำพื้นที่ป่าชายเลนที่เปลี่ยนแปลงสภาพหรือเสื่อมโทรมไปแล้วมาจัดที่ดินทำกินให้แก่ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้ นอกจากจะสนองตอบต่อความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงควบคู่กับการเสริมสร้างจิตสำนึกของราษฎรให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนอย่างเกื้อกูลกับหลักการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังจริงใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐกับชาวบ้าน ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพลิกฟื้นคืนความสมบูรณ์เพื่อให้เป็นทุนทางธรรมชาติในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศป่าชายเลนและชายฝั่งต่อไป

                     “ถือเป็นโครงการนำร่อง เพราะเป็นครั้งแรกในการนำป่าชายเลนที่เสื่อมสภาพมาจัดสรรให้ราษฎรผู้ยากไร้มีที่ดินทำกิน ในเบื้องต้นเราได้จัดพื้นที่จำนวน 500 ไร่ให้ผู้ที่อยู่อาศัยเดิมและส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ขอคืนจากชุมชนที่เข้าไปบุกรุุกเพื่อทำให้ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชนจะทำให้พื้นที่ตรงนี้มีความยั่งยืน  โดยเราจะออกใบอนุญาตเป็นแปลงรวม  มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และทช.จังหวัดจะแบ่งจัดสรรที่ดินให้ราษฎร จากนั้นกระทรวงเกษตรฯ ก็จะเป็นเจ้าภาพในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ในการสร้างผลผลิตและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกรมประมงและป่าไม้ นั่นก็คือ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคู่ไปกับการปลูกป่าชุมชนฟื้นระบบนิเวศป่าชายเลน” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวย้ำ

                    ด้าน วุฒิศักดิ์ ดวงศิริ กำนันตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก อ.ปากพนัง  หนึ่งในพื้นที่ป่าชายเลนที่ได้รับการจัดสรรที่ทำกินให้กับราษฎรกล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนสู่ความยั่งยืน โดยระบุว่าในส่วนของ อ.ปากพนัง มีพื้นที่ป่าชายเลนที่ได้รับการจัดสรรครอบคลุมใน 2 ตำบล คือ ต.ปากพนังฝั่งตะวันตกและต.คลองน้อย รวม 7 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับสิทธิ์ที่ดินทำกินจำนวนทั้งสิ้น  60 ครัวเรือน จำนวน 500  ไร่ และเป็นราษฎรที่อาศัยอยู่เดิม โดยในแต่ละครัวเรือนได้รับการจัดสรรเนื้อที่เฉลี่ยครอบครัว 5 ไร่ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2543 ห้ามใช้พื้นที่ดังกล่าวในการประกอบอาชีพทำได้เพียงแค่อยู่อาศัยเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ดังนั้นการได้รับสิทธิ์ใช้พื้นที่ทำกินได้ในครั้งนี้จะช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี 

                   “ผมต้องขอขอบคุณรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ตลอดจนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องที่ได้ให้ความสำคัญและเข้ามาช่วยดูแลช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกิน เมื่อก่อนแค่อยู่อาศัยอย่างเดียว แต่ประกอบอาชีพอะไรไม่ได้   จากนี้ไปทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและสามารถขึ้นทะเบียนกับภาครัฐเพื่อรับสิทธิต่าง ๆ ได้ด้วย โดยขอที่ทำกินเดิมเท่านั้น จะไม่มีการบุกรุกเพิ่มอย่างเด็ดขาด หากพบก็จะดำเนินการทางกฎหมายทันทีและจะเพิกถอนสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าวของผู้นั้นอีกด้วย” กำนันวุฒิศักดิ์ ย้ำทิ้งท้าย           

                   การนำป่าชายเลนที่เสื่อมสภาพมาจัดสรรให้ชาวบ้านที่ยากไร้ไม่มีที่ทำกินเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ นับเป็นอีกนโยบายของรัฐบาลที่นอกจากต้องการลดความเหลื่อมล้ำในด้านอาชีพและรายได้ของคนในสังคมแล้วยังช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกคนในพื้นที่ให้มีการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนอย่างเกื้อกูลเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

                                                        

  จัดระเบียบป่าชายเลนนครศรีฯ ตามมติ ครม.

            ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ลงมติว่า 1.อนุมัติให้ยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 วันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 เพื่อนำที่ดินที่เป็นป่าชายเลนในท้องที่ อ.เมือง และอ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช รวมเนื้อที่ 27,000 ไร่ไปจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล โดยใช้กระทรวงทรัพยากรฯดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้วย 2.ให้กระทรวงทรัพยากรฯ กำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่จำนวน 16,000 ไร่ที่จะนำไปฟื้นฟูให้เป็นป่าชายเลนและจัดทำเป็นป่าชุมชนหรือป่าเศรษฐกิจและให้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ให้ประเมินผลการดำเนินการเกี่ยวกับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าวและรายงานคณะรัฐมนตรีต่อไป สำหรับพื้นที่ป่าชายเลนจำนวน 2.7 หมื่นไร่ใน จ.นครศรีธรรมราช นั้น ประกอบด้วย พื้นที่ป่าชายเลยจำนวน 4,000 ไร่ พื้นที่ฟื้นฟูป่าชายเลนจำนวน 12,000 ไร่ และพื้นที่จัดสรรให้ราษฎรจำนวน 11,000 ไร่