ข่าว

"อัญชัน"ลดความดัน-ต้านต้อกระจก

"อัญชัน"ลดความดัน-ต้านต้อกระจก

10 มี.ค. 2560

โดย - นายสวีสอง

 

         “อัญชัน” (Butterfly Pea) ดอกไม้สีม่วงที่ขึ้นชื่อเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์อย่างมาก หลายคนคงจะเคยได้ยินสรรพคุณของเจ้าดอกนี้กันมาบ้างแล้ว ที่เห็นชัดๆ คงเป็นการนำมาถูคิ้วเด็กเล็กๆ เพราะคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา ถึงตอนนี้ก็ตามหลายบ้านตามชนบท ยังมีความเชื่อว่าจะทำให้คิ้วดกดำขึ้น หรือแม้แต่คุณประโยชน์ในการนำสีของดอกมาใช้ทำอาหารหรือขนมต่างๆ ทว่า ใช่แค่ประโยชน์ที่กล่าว ไม้ดอกชนิดนี้ยังมีประโยชน์อีกมากมาย รวมทั้งสรรพคุณทางยา โดยเฉพาะดอกมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง ต้านสารอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เป็นต้น

 

\"อัญชัน\"ลดความดัน-ต้านต้อกระจก

 

         จัดเป็นพืชผักและพืชสมุนไพรไม้เลื้อย ในตระกูล  Leguminosae  และเป็นตระกูลย่อย  Papilionoideae ชื่อวิทยาศาสตร์ Clitoria ternatea Linn. ชื่อสามัญ : Clitoria, Butterfly Pea และ Blue Pea ชื่อไทยพื้นเมือง  ทุกภาคเรียก อัญชัน บางพื้นที่เรียก อังจัน แดงชัน และเอื้องชัน มีถิ่นกำเนิดประเทศอินเดีย ปานามา และหมู่เกาะโมลุกกะ

         ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ราก และลำต้น รากประกอบด้วยระบบรากแก้ว รากแขนง และรากฝอย มีความลึกไม่มาก รากแขนงมักแทงขนานตามผิวดิน ขณะที่ลำต้นมีขนาดเล็ก ยาวได้มากกว่า 3-5 เมตร แตกแขนงเป็นกิ่งย่อยจำนวนมาก กิ่งอ่อนมีสีเขียว กิ่งแก่มีสีน้ำตาล แตกกิ่งมาก และใช้ปลายยอดเลื้อยพันตามวัตถุที่เกาะได้

         ใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก แทงออกสลับกันตามข้อกิ่ง  ทรงเรียวบาง ค่อนข้างกลม ปลายใบแหลม ฐานใบมน ยาว 1.5-5 ซม. กว้าง 0.3-3 ซม. ก้านยาว 1.5-3  ซม. หนึ่งก้านใบ มีใบย่อย  5-7 ใบ ออกเป็นคู่คนละข้าง 2-3 คู่ ใบย่อยสุดท้ายเป็นใบเดี่ยวอยู่บนสุด

 

\"อัญชัน\"ลดความดัน-ต้านต้อกระจก

 

         ดอก แทงออกบริเวณปลายยอดตามซอกใบที่ข้อกิ่ง เป็นดอกเดี่ยว มี 3 ชนิด คือ ดอกสีขาว สีม่วง และน้ำเงิน ปัจจุบันมีการกลายพันธุ์เป็นหลายสี เช่น เหลือง ชมพู และสีคราม ดอกมีทั้งชั้นเดียวและบิดซ้อนกัน

         ผล เป็นฝักแบนเหมือนฝักถั่วยาว แต่สั้น และแบนกว่า ยาว 6-12 เซนติเมตร กว้าง 0.5-1.2 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว สีเขียวเข้ม สีเหลือง สีน้ำตาล และน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ตามอายุของฝัก

         เมล็ด วงรีคล้ายไต ฝักแต่ละฝักมีเมล็ดมากกว่า 10 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาล และสีดำตามลำดับ บางเมล็ดอาจมีลาย เมล็ดยาว 4.5-7 มิลลิเมตร กว้าง 3-4 มิลลิเมตร

       ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในทุกสภาพพื้นดิน ที่ความชื้นและแสงแดดปานกลาง

       สารสำคัญที่พบในดอกอัญชัน แอนโธไซยานิน (Anthocyanins) แบ่งเป็น 6 ชนิด โดยชนิด pelargonidin ให้สีส้ม ชนิด cyanidin ให้สีแดง และชนิด delphinidin ให้สีม่วง,ฟลาโวนอยด์  (flavonols) กลุ่มนี้จัดเป็นสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compound ) ทำหน้าที่เป็นสารสีในพืช ต้านอนุมูลอิสระ,แร่ธาตุ สีน้ำเงินของดอกอัญชันประกอบด้วยอิออนของโลหะ 2 ชนิด คือเหล็ก และแมกนีเซียม,กรดมาโลนิก (malonic acid) เป็นส่วนหนึ่งที่พบในแอนโธไซยานินหลายชนิด มีหน้าที่รักษาสภาพเซลล์พืช โดยป้องกันสภาพความเป็นด่างที่อาจทำให้สีจางลง นอกนั้น ยังพบสารอื่นๆ ได้แก่ เทอร์นาทิน (ternatins) (A3, B2, B4, C1, C5, D2,D3) และพรีทอร์นาทิน (preternatins)

 

\"อัญชัน\"ลดความดัน-ต้านต้อกระจก

        สรรพคุณ  :
        ดอก ประกอบด้วยสาระสำคัญในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่มีสรรพคุณหลายอย่าง อาทิ ลดอาการปวด เป็นยาชา ลดไข้ บำรุงสายตา โรคต้อหิน ต้อกระจก ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงเลือด กระตุ้นการไหลเวียนเลือด เพิ่มความแข็งแรงหลอดเลือด ยับยั้งเกล็ดเลือด ลดความดันโลหิตสูง คลายกล้ามเนื้อ ต้านเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ลดอาการบวมของแผล ต้านอาการภูมิแพ้ ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งเซลล์มะเร็ง

        ราก มีรสขมเย็น ใช้กินสดหรือต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย ใช้บำรุงสายตา ลดตาอักเสบ ตาแฉะ ตาฟาง ลดไข้ แก้อาการปวดแสบปวดร้อน ลดอาการผิดปกติในเม็ดเลือดขาว ลดอาการอักเสบของหลอดลม บรรเทาอาการโรคหอบ รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ส่วนรากดิบนำมาล้างน้ำให้สะอาด ใช้ขัดถูฟัน ช่วยให้ฟันแข็งแรง ต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก และแก้ปวดฟัน

        ใบ นำมาบดประคบแผล ต้านอักเสบของแผล หรือนำมาต้มดื่มหรือตากแห้งชงเป็นชาดื่มใช้เป็นยาขับปัสสาวะ บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเซลล์มะเร็ง

        เมล็ด นำมาบดชงน้ำดื่มหรือต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาระบาย แต่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จึงไม่นิยมใช้

 

\"อัญชัน\"ลดความดัน-ต้านต้อกระจก

 

       ประโยชน์ :
     1. สารสกัดหรือน้ำคั้นจากดอกอัญชัน บ้านเรานิยมนำมาใช้มากสำหรับสารสีผสมอาหารที่ให้สีม่วง สีน้ำเงิน และสีครามสวยงาม อาหารที่ใช้ผสมส่วนมากจะเป็นขนม และอาหารหวานต่างๆ ได้แก่ ขนมชั้น ขนมน้ำดอกไม้ และอื่นๆ

     2. ใช้เป็นส่วนผสมของครีมนวด และยาบำรุงผม เนื่องจากสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ แอนโทไซยานิน และแทนนนิน มีฤทธิ์กระตุ้นรากผม และบำรุงเส้นผม

    3. ใช้เป็นส่วนผสมของยาย้อมผม เนื่องจากให้สีน้ำเงินหรือสีม่วงสดใส แต่สีจะไม่ติดทนนาน

    4. คนโบราณ นิยมใช้ดอกอัญชันมาขยี้ทาหนังศรีษะทำให้ผมดกดำ ผมงอกใหม่มากขึ้น ป้องกันผมร่วง ใช้ทาคิ้วทำให้คิ้วหนาดำ

    5. ดอก นำมาต้มทำน้ำย้อมผ้าได้หลายสี อาทิ สีม่วง สีน้ำเงิน สีชมพู ทำให้ได้สีผ้าสดใสเป็นธรรมชาติ หรือนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก ให้รสหวาน กรอบ อร่อย

        ข้อควรระวัง : แม้ว่าดอกอัญชันจะเป็นสมุนไพร แต่ก็ยังมีโทษถ้าหากใช้มากเกินไป เพราะจะทำให้ไตทำงานหนักขึ้นในการขับสารสีจากอัญชันออกมา และผู้ที่ป่วยด้วยโรคโลหิตจางก็ไม่ควรจะรับประทานดอกอัญชันรวมทั้งอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของอัญชันด้วย เพราะในดอกอัญชันนั้นมีสารที่มีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโลหิตจางได้

       แหล่งข้อมูลhttps://th.wikipedia.org/wiki/อัญชัน,สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล