"ด้วงแรด-ด้วงงวง"รุมเล่นงาน"มะพร้าว"
โดย - โต๊ะข่าวเกษตร
ช่วงนี้อากาศชื้นมีฝนตกชุก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าว ในระยะติดผลผลิตให้ระวัง ด้วงแรด ด้วงงวง ศัตรูตัวร้ายของมะพร้าวเข้าทำลาย
อาการที่พบ : ตัวเต็มวัยของด้วงแรดจะเข้าไปเจาะกัดกินบริเวณยอดอ่อน หรือโคนทางใบมะพร้าว ทำให้เกิดเป็นรู รอยแหว่ง เป็นแผล เมื่อเป็นมากๆจะทำให้มะพร้าวแคระแกรน และรอยแผลที่ด้วงแรดกัดกิน จะเปิดโอกาสให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ในลำต้น จนทำให้เกิดโรคต้นเน่า ยอดเน่า ในเวลาต่อมา
การป้องกัน - 1.กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ : เผาหรือฝังซากลำต้น ตอ ของมะพร้าว,เกลี่ยซากพืช กองมูลสัตว์ ให้กระจายมีความสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร,ถ้าจำเป็นต้องกองมูลสัตว์ ต้องหมั่นพลิกกลับกองมูลสัตว์เป็นประจำ
ด้วงแรด
2.หมั่นทำความสะอาดคอมะพร้าว หากพบรอยแผลเป็นรู ให้ใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรด ด้วงงวง เพื่อกำจัด
3.ใช้กับดักล่อจับตัวเต็มวัย แล้วนำไปทำลาย และ
4.ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมช่วยทําลายในระยะหนอน โดยการใช้เชื้อรานี้มีข้อจำกัด คือ
- ราเขียวเมตาไรเซียมต้องการความชื้นสูงในการงอก จึงควรเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ช่วงฤดูฝน หรือปลายฝนต้นหนาว
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในช่วงที่มีแสงแดดจัด เช่น เวลากลางวัน และผู้ใช้ควรสวมเครื่องป้องกัน เช่น ใช้ผ้าปิดปาก จมูก เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดหายใจเอาละอองเชื้อเข้าระบบทางเดินหายใจ สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อาจทําให้เกิดอาการผื่นคันได้