“บุนนาค”ยาหอมแก้ร้อนใน-บำรุงหัวใจ
โดย -นายสวีสอง
ชาวกะเหรี่ยงเรียก “บุนนาค” ว่า “ก๊าก่อ” พบได้ตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ เป็นไม้พื้นถิ่นประเทศเอเชียเขตร้อน รวมทั้งในบ้านเราด้วย นับเป็นพรรณมีประโยชน์มาก
สรรพคุณด้านพืชสมุนไพร ใบใช้แก้เสมหะและพอกสมานแผลสด,ดอกใช้ปรุงเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้อาการร้อนอ่อนเพลีย ขับเสมหะ ขับลม แก้กระหายน้ำ ระงับกลิ่นตัว,ผลมีฤทธิ์ช่วยขับเหงื่อ และฝาดสมาน,เมล็ดแก้โรคปวดตามข้อ รักษาโรคผิวหนัง,รากใช้เป็นยาขับลมในลำไส้
ประโยชน์ด้านอื่นๆ ลำต้นใช้ทำไม้หมอนรางรถไฟ งานก่อสร้าง ต่อเรือ เครื่องเรือนต่างๆ เปลือกลำต้นบดเป็นผงใช้แต่งกลิ่นธูปหอม น้ำที่กลั่นได้จากดอกใช้แต่งกลิ่นสบู่ และน้ำมันจากเมล็ดใช้จุดตะเกียง ทำเครื่องสำอาง เป็นต้น
เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ในวงศ์ GUTTIFERAE ต้นเปลาตรง สูงราว 25 เมตร ผิวเปลือกเรียบสีน้ำตาล เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ทรงใบหอก โคนใบสอบ ปลายแหลม หลังใบสีเขียว ท้องใบสีเขียวอมขาว ใบอ่อนสีชมพู
ดอก ออกเป็นช่อ 2-3 ดอก มี 5 กลีบ สีขาวอมเหลืองอ่อน ตรงกลางมีเกสรตัวผู้สีเหลืองมาก ส่งกลิ่นหอมทั้งวัน
ผล รูปไข่ ผิวแข็งสีน้ำตาล ผลแก่แตกเป็น 2 ซีก ภายในมี 2-3 เมล็ด
ขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ชอบดินร่วน ความชื้น และแสงแดดปานกลาง