"เครือหมาน้อย"ยาเย็น ดับพิษไข้!
โดย - นายสวีสอง
“เครือหมาน้อย”พืชสมุนไพรที่พบได้ทั่วไปตามท้องไร่ปลายนา ที่รกร้างว่างเปล่าหรือตามสวนป่า นอกจากมีสรรพคุณทางยามากมายแล้ว ชาวบ้านถิ่นอีสานจะนำใบมาประกอบอาหารพื้นถิ่นทั้งคาว หวาน อาทิ วุ้นหมาน้อย ลาบหมาน้อย ฯลฯ
เป็นไม้เถาเลื้อย ในวงศ์ MENISPERMACEAE ชื่ออื่น กรุงเขมา,หมอน้อย,ก้นปิด,พระพาย,เปล้าเลือด,สีฟัน
ต้น เป็นเถามีขนปกคลุม ไม่มีมือเกาะ ชอบเลื้อยพันต้นไม้อื่น มีรากหรือเหง้าสะสมอาหารใต้ดิน
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจ สีเขียว ก้านใบปิด ออกสลับ ขอบและพื้นใบเรียบ มีขนนุ่มทั้งบนใบและท้องของใบ
ดอก ออกเป็นกระจุกสีขาว ที่ซอกใบ แต่ละดอกที่รวมเป็นกระจุกนั้น จะมีขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร
ผล กลมรี อยู่ตรงปลายก้านผลสีส้ม เมื่อสุกมีสีน้ำตาลออกแดง
ขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด หรือเหง้า ชอบดินร่วนปนทราย ความชื้นปานกลาง แสงแดดไม่จัด
สรรพคุณทางยา : ราก กลิ่นหอม รสสุขุม ใช้แก้ไข้ แก้ดีซ่าน บำรุงตับ ขับปัสสาวะ เป็นยาถ่าย แก้ไข้มาลาเรีย เป็นยาเจริญอาหาร ยาอายุวัฒนะ แก้ท้องร่วง บวมน้ำ แก้ไอ ขัดเบา กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้ปวดท้อง โรคหนองใน บำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง ,ใบ แก้ร้อนใน แก้โรคผิวหนัง หิด ฝี พอกแผล แก้แผลมะเร็ง ลำต้น ดับพิษไข้ทุกชนิด บำรุงโลหิตสตรี เป็นยาพอกแก้ตาอักเสบ
ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดกับสตรีตั้งครรภ์
แหล่งที่มาข้อมูล : ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.,ตำรับยา ตำราไทย.“เรื่องน่ารู้ของเครือหมาน้อย กรุงเขมา : วุ้นธรรมชาติ ยาเย็น แก้ไข้ แก้ปวด”.