7 พอ
โดย - อาจารย์ยักษ์ มหาลัยคอกหมู
“ใครจะว่าเราเชยก็ช่างเขา ขอให้อยู่แบบพอมีพอกิน มีความสุข และมีไมตรีจิตต่อกันจริงๆ ไม่ได้เชย มันล้ำหน้าต่างหาก”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ข้างต้น สะท้อนปรากฎการณ์ของสังคมโลกได้อย่างลึกซึ้ง ผู้คนอยู่แบบไม่พอ (ทั้งกายที่ไม่พอ และจิตที่ไม่พอ) ผู้คนขาดมิตรไมตรีจิตต่อกัน การหันกลับมาอยู่แบบพอมีพอกิน และมีไมตรีจิตต่อกันจึงเป็นสิ่งที่ล้ำสมัยที่โลกกำลังเรียกร้องต้องการอย่างยิ่ง ภายใต้เศรษฐกิจการค้าตาโตที่ต้องพึ่งเงินและให้เงินซื้อทุกอย่าง แทนการพึ่งตนเองเหมือนวิถีชีวิตในอดีต ได้สร้างความทุกข์เข็ญให้กับผู้คนอย่างแสนสาหัส ผู้คนต้องดิ้นรนหาเงินให้พอเพื่อซื้อบ้านหนึ่งหลัง เพื่อซื้อข้าวหนึ่งมื้อ ซื้อยา ซื้อเครื่องใช้ไม้สอยที่คนในอดีตไม่จำเป็นต้องซื้อ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้านายบุญมี ต้องทิ้งที่ทิ้งทางมาหางานทำในเมืองหลวง เพื่อให้ได้เงิน ค่าแรงขั้นต่ำ 170 บาทสำหรับการยังชีพต่อวัน เงินที่หาได้ไม่มีทางที่จะทำให้นายบุญมีตลอดชีวิตนี้สร้างบ้านที่ตนเองใฝ่ฝันได้แม้บ้านในราคาเพียง ห้าแสนบาท
หากนายบุญมีมีเนื้อที่เพียง 5ไร่ และปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านได้สอนไว้เพียงเรื่องเดียว คือปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไม้ 5 ระดับ ภายใน 20 ปีนายบุญมีก็มีโอกาสปลูกบ้านไม้อย่างดี
นอกจากให้ตนเองแล้วยังสามารถปลูกเผื่อแผ่ให้ลูกหลานด้วย มีพออยู่พอกิน และ มีรายได้ที่มากกว่า 170 บาทต่อวันแน่นอน เพียงลำพัง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไม้ 5 ระดับ (สูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน ใต้ดิน) ก็ก่อให้เกิดอย่างน้อย 5 พอต่อไปนี้
1.พออยู่ ไม้ที่ปลูกเป็นไม้ที่ใช้สำหรับสร้างบ้านทั้งหลัง ทั้งไม้ทำเสา ทำโครง ทำพื้น ทำฝา ทำหลังคา เช่น ไม้สัก ไม้ตะเคียน ไม้มะค่า ไม้ประดู่ ไม้ยางนา และอีกสารพัดไม้ที่ปลูกได้บนเนื้อที่ 5 ไร่
2.พอกิน ไม้สำหรับกินที่ไม่ต้องหาซื้อทั้งอาหารคาว ขนม เครื่องดื่ม และยาที่สามารถหยิบจากป่าหลังบ้านได้เลย ประเภท ผลไม้ เช่น กล้วย เงาะ มังคุด ลำใย มะละกอ ประเภทอาหาร เช่น ผักหวาน ดอกแค กระชาย กระเทียม พริก มะนาว ฯลฯ ประเภทเอามาทำขนม เช่น ฟักทอง กล้วย มะพร้าว เตย ประเภทเอามาเป็นเครื่องดื่ม เช่น ต้นฝาง กระเจี๊ยบ ตะไคร้ กระทกรก อัญชัญ ประเภท ยา และสมุนไพร เช่น ขิง ข่า กระเพรา ชะพลู ว่านหางจระเข้ ว่านสาวหลวง หญ้าหนวดแมว เป็นต้น
3.พอใช้ ป่า 5 ไร่ สร้างของใช้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อให้กับเราตั้งแต่หัวจรดเท้า เช่น ลูกประคำดีควาย บอระเพ็ดมะกรูดสำหรับผม ข่อย สะเดา สะระแหน่สำหรับปาก และฟัน คนโบราณใช้ผักคาดหัวแหวนในการรักษาเวลาปวดฟัน มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่รากฟันได้อย่างชะงัด ส่วนขมิ้น ไพร ก็ใช้สำหรับผิวหนัง แก่นฝานรักษาตา ลูกจันทร์ ว่านหางจระเข้ สำหรับรักษาฝ้า และพืชอีกหลายชนิดที่เอามาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ตั้งแต่การย้อม ทำน้ำยาซักผ้า ล้างจาน ถูบ้าน
4.พอร่มเย็น ต้นไม้ให้ความเย็นและให้ความบริสุทธิ์ของอากาศ ต้นไม้ 10 ต้นสามารถผลิตความเย็นได้มากกว่าแอร์ 1 ตัน จากความร่มเย็นของบรรยากาศสู่ความร่มเย็นของจิตใจ นำความสุข สงบ มาให้เจ้าของชนิดที่เงินซื้อไม่ได้ ในสภาวะของโลกที่กำลังร้อนระอุเช่นนี้ พอร่มเย็นจากป่า 3 อย่าง ไม่เพียงแต่นำความร่มเย็นมาให้ผู้ปลูกเท่านั้น ยังสร้างความร่มเย็นและช่วยแก้วิกฤตโลกที่กำลังร้อนระอุให้บรรเทาเบาบางลงด้วย
5.พอพลังงาน ป่าให้ไม้นานาชนิดที่นำมาใช้เป็นพลังงานได้ ทั้งถ่าน และพลังงานในรูปของประจุไฟฟ้า
เพียงแค่นี้เราก็พูดได้ว่าเพียงลำพัง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ก็ให้ความพอเพียง ความอุดมสมบูรณ์ ในการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องดิ้นรนทิ้งถิ่นฐานเพื่อขายแรงงานแลกกับเงินเพียงไม่กี่บาท ในทางปฏิบัติมีตัวอย่างของความสำเร็จของคนที่สร้างรายได้มากมายจากป่ารอบบ้าน และดำรงชีวิตอย่างพอเพียง มีความสุขให้เห็นมากมาย
ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างได้ก่อให้เกิดรูปธรรมของ สัมมาอาชีวะ ที่เห็นได้ง่าย ๆ และชัดเจน สร้างให้คนมีกินมีใช้ มีรายได้ เกิดเป็นความรู้ มีคุณธรรมแห่งการพึ่งตนเองเป็นหลักยึด จิตที่ “พอ” จึงก่อเกิดมิตรไมตรีต่อกันในสังคมระดับกว้างที่ผู้คนต้องพึ่งพาอาศัยกันและอยู่อย่างสงบสุข ยังต้องอาศัยยุทธวิธี อีก 2 พอ เพื่อสร้างความสมดุล และยั่งยืนให้กับฐานของสัมมาอาชีวะที่มีอยู่แล้วในสังคม อีก 2 พอที่ว่านี้คือ
6.พอพัฒนาคน สัมมาอาชีวะ มี สัมมาทิฐิ เป็นที่ตั้ง ซึ่งเกิดจากระดับจิตใจของผู้คนที่ได้รับการพัฒนาถึงขั้น ปัญญา ในสังคมแห่งสัมมาอาชีวะ จึงขาดการพัฒนายกระดับจิตใจผู้คนอย่างต่อเนื่องมิได้ สังคมมิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวต้องเชื่อมต่อสัมพันธ์กับสังคมอื่น สังคมแห่ง ปัญญา เท่านั้นที่จะทำให้ผู้คนหลุดจากการจาริกอยู่ในโมหภูมิ สถาบันพัฒนาปัญญา หรือ มหาวิชชาลัยจึงต้องอยู่เป็นพื้นฐานของสังคมสัมมาอาชีวะ
7.พอสี่อสาร โลกแห่งมิจฉาทิฐิที่กำลังรายล้อมมุ่งฟาดฟัน สัมมาทิฐิ ใช้สื่อเป็นอาวุธอันทรงพลัง การสร้างสื่อสัมมาทิฐิ เป็นอาวุธตอบโต้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เรามีสื่อที่เป็นมิฉาทิฐิมากเท่าใด ก็สะท้อนถึงสังคมที่มี มิจฉาอาชีวะมากเท่านั้น
ในทางกลับกัน สังคมใดที่รายล้อมด้วย สื่อ สัมมาทิฐิ ก็ย่อมเชื่อได้ว่าสังคมนั้นมีสัมมาอาชีวะอยู่เต็มพื้นที่อย่างแน่นอน