ข่าว

 "ฝายชะลอน้ำ"ของพ่อทำง่าย ประหยัด ยั่งยืน

 "ฝายชะลอน้ำ"ของพ่อทำง่าย ประหยัด ยั่งยืน

21 ต.ค. 2559

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

          คงมีเพียงคนไม่กี่คนที่ยังจำได้ว่า เป็นเวลาเกือบ 40 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงดำริเรื่อง “ฝาย” ให้เป็นทางเลือกที่สำคัญในการฟื้นฟูป่า หยุดไฟป่า สร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศ รวมทั้งเป็นแหล่งส่งน้ำให้กับเกษตรกร

          พระองค์ท่านทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่ง นั่นคือให้ใช้ ฝายกั้นน้ำ (Check Dam) หรืออาจเรียกกันว่า ฝายชะลอความชุ่มชื้น ฝายชะลอน้ำ หรือ ฝายแม้ว

 

 \"ฝายชะลอน้ำ\"ของพ่อทำง่าย ประหยัด ยั่งยืน

 

          นั่นก็คือสิ่งที่ก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ที่ปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป้นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้พืชสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็ชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง ขณะเดียวกันก็กักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลดทลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง

          ส่วนรูปแบบและลักษณะฝายกั้นน้ำนั้น พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า "ให้พิจารณาดำเนินการ สร้างราคาประหยัด ใช้วัสดุราคาถูก และหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กๆ เป็นระยะๆ เพื่อให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชี้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง" 

 

 \"ฝายชะลอน้ำ\"ของพ่อทำง่าย ประหยัด ยั่งยืน

 

         ดังที่ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ มหาลัยคอกหมู ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างฝายตามแนวพระราชดำรัสของพระองค์ฯ เป็นทางเลือกของการดูแลรักษา ป่า น้ำ ธรรมชาติให้กับคนไทย อันเป็นทางเลือกที่ดี ง่าย และถูกในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ 

         ฉะนั้น การสร้างฝายของคนโบราณจึงเป็นการดัดแปลงเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ เป็นการใช้วัสดุต่างๆ ที่หาง่ายเช่น หิน กรวด ไม้ไผ่ ฝาย ทำง่ายมากใช้แรงงานคนไม่กี่คน เพียงวันเดียวก็เสร็จ 

         เพื่อขานรับในพระราชดำริของพระองค์ท่าน อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ ถือเป็นผืนป่าพิเศษ เนื่องจากมีสถานที่สำคัญ หลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ทั้งพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พระบรมธาตุดอยสุเทพ อนุสาวรีย์ครูบา เจ้าศรีวิชัย และหน่วยงานราชการอีกหลายแห่ง ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ก่อกำเนิดลุ่มน้ำสำคัญหลายสาย โดยเฉพาะลุ่มน้ำแม่เหียะ ลุ่มน้ำห้วยแก้วผาลาด ลุ่มน้ำห้วยตึงเฒ่า ลุ่มน้ำแม่ ตาช้าง และลุ่มน้ำแม่สาฝั่งขวา 

 

 \"ฝายชะลอน้ำ\"ของพ่อทำง่าย ประหยัด ยั่งยืน

 

          โดยตลอดกว่า 20 ที่ผ่านมา ผืนป่าแห่งนี้ต้องเผชิญกับปัญหาความแห้งแล้ง ปัญหาไฟ ป่าและหมอกควันอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นสถานการณ์เร่งด่วนที่จะต้องมีฟื้นฟูสภาพป่าและอนุรักษ์ให้คงสภาพสมบูรณ์ 

          การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จึงร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งที่นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ผุดโครงการ "รักษ์น้ำ สร้างฝาย ถวายในหลวง" โดยได้สนับสนุนงบประมาณ 9,710,000 บาท เพื่อจัดสร้างฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน จำนวน 1,750 แห่ง ในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองเชียงใหม่ 650 จุด อ.แม่ริม 600 และ อ.หางดง 500 จุด เพื่อชลอน้ำ ฟื้นฟูและสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า

          การจัดทำฝายทั้งหมดได้มีผู้เชี่ยวชาญจากฝ่ายศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นผู้กำหนดแบบตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยไม่มีการจ้างแรงงาน แต่จะขอความร่วมมือจากประชาชนในแต่ละพื้นที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันจัดสร้าง ขณะที่งบประมาณทั้งหมดจะเป็นค่าใช้จ่ายในกาารจัดซื้อวัสดุก่อสร้างและค่าอาหารเลี้ยงชาวบ้าน 

 

 \"ฝายชะลอน้ำ\"ของพ่อทำง่าย ประหยัด ยั่งยืน

 

         ฝายทั้งหมดจะถูกบันทึกภาพและพิกัดเพื่อความสะดวกในการซ่อมบำรุงในอนาคต โดยมั่นใจว่าการจัดสร้างฝายครั้งนี้ จะสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ดอยสุเทพ ดักตะกอนจาก การชะล้างพังทลายของดิน ลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วยทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำในช่วงฤดูแล้งยาวนานขึ้น รวมทั้งลดการเกิดไฟป่าและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับพื้นที่ได้เป็นอย่างดี 

         โครงการ "รักษ์น้ำ สร้างฝาย ถวายในหลวง" ที่มีขึ้นจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้าง "จิตอาสา" ของการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และฝายเหล่านี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืน คืนสมดุลสู่ธรรมชาติ

         ทั้งยังเป็นการจุดประกายให้ชาวไทยได้ตระหนักและร่วมมือกันดูแลฟื้นฟูป่าไม้แหล่งต้นน้ำลำธารและสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุลธรรมชาติ ทำให้ต้นน้ำลำธารที่สมบูรณ์อยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป