
“เขาหินซ้อน”ศูนย์ศึกษาแห่งแรกสู่พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
โดย - โต๊ะข่าวเกษตร
ย้อนไปเมื่อ 37 ปีที่แล้ว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งแรกในจำนวน 6 ศูนย์ที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ณ ที่นั้นมีราษฎร 7 ราย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณหมู่ 2 ต.เขาหินซ้อน จำนวน 264 ไร่เพื่อต้องการให้สร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปที่ไหนก็พยายามที่จะพัฒนาทำให้ที่ดินเจริญขึ้น เนื่องจากผืนดินเสื่อมโทรมไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่ง
“...ตอนแรกมีที่ดิน 264 ไร่ ที่ผู้ใหญ่บ้านให้เพื่อสร้างตำหนักในปี 2522 ที่เชิงเขาหินซ้อนใกล้วัดเขาหินซ้อน ตอนแรกก็ต้องค้นคว้าว่าที่ตรงนั้นคือตรงไหน ก็พยายามสืบถามก็ได้พบบนแผนที่พอดีอยู่มุมบนของระวางของแผนที่ จึงต้องต่อแผนที่ 4 ระวาง สำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่ตรงนั้น อยู่ตรงไหน ก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก แต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกยินดีก็เลยเริ่ม ทำในที่นั้น ...”
จากพื้นที่เสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทราย มีการชะล้างพังทลายของดินสูง ดินรองรับน้ำได้เพียง 30 มิลลิเมตร มีการปลูกพืชชนิดเดียวคือมันสำปะหลังติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ผลผลิตพืชที่ได้รับต่ำ เมื่อสำรวจสภาพปัญหาของพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานข้อเท็จจริงแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531 ความตอนหนึ่งว่า
"...อันแรกก็ได้ให้กรมชลประทานได้สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำ ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็แปลก เพราะว่าอ่างเก็บน้ำนั้นเท่ากับกินที่ของที่ที่ได้มาเกือบทั้งหมดจะเหลือเพียงไม่กี่ไร่ที่จะใช้สำหรับการเพาะปลูก โดยใช้น้ำชลประทานก็เริ่มต้นอย่างนั้นคือ ไม่ถือว่าผิดหลักวิชา ความจริงก็ผิดหลักวิชามีที่เท่าไรก็มาใช้ ส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำ แล้วก็มาใช้ประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกเพียงไม่กี่ไร่ แต่ถือว่าทำเป็นตัวอย่างแล้ว ผลประโยชน์ที่จะได้ก็ไม่ใช่เฉพาะในที่ของเรา เป็นในที่ที่ลงไปข้างล่างคงได้รับประโยชน์สำหรับสถานที่ก่อสร้างนั้น...”
จากนั้นกรมชลประทานจึงได้ดำเนินการสร้างเขื่อนกั้นห้วยเจ๊ก ซึ่งมีน้ำซับ (พิกัด QR.715208) เมื่อไปทำพิธีเปิดพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดเขาหินซ้อน ได้ไปสำรวจพื้นที่และกำหนดที่ทำเขื่อน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 ต่อจากนั้นได้สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม (นอกเขต) คือ อ่างห้วยสำโรงเหนือ และห้วยสำโรงใต้ และเมื่อพัฒนาน้ำขึ้นมาบ้างแล้ว ก็เริ่มปลูกพืชไร่และเลี้ยงปลาในที่ลุ่ม ส่วนที่อยู่บนเนินก็เลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกหญ้า และต้นไม้ผลและป่า การเลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกหญ้าและต้นไม้นี้ จะทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น ในที่สุดจะใช้ที่ดินได้ทั้งหมด กรรมวิธีนี้อาจต้องใช้เวลานาน จะสามารถเปลี่ยนจากกระบวนการที่ไปทางเสื่อมมาเป็นทางพัฒนาให้เป็นพื้นที่สมบูรณ์เมื่อจำแนกชั้นสมรรถนะของดินสำหรับพืชไร่ และการปลูกป่าแล้ว ก็สมควรที่จะมีการปลูกพันธุ์ไม้ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผิวดินและความชุ่มชื้นของอากาศแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อการใช้ในครัวเรือน อาทิ ไม้เพื่อทำฟืน ไม้เพื่อทำบ้าน และไม้ผล เป็นต้น จากนั้นพระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
กล่าวอีกด้านหนึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาสำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่ เพราะว่าแต่ละท้องที่สภาพฝนฟ้าอากาศและประชาชนในท้องที่ต่างๆ กันก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกันและเป็นการสาธิตการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ หมายถึง ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกด้านของชีวิต ประชาชนจะหาเลี้ยงชีพในท้องที่ จะทำอย่างไร และได้เห็นวิทยาการแผนใหม่ จะสามารถที่จะหาดูวิธีการจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญศูนย์ศึกษาการพัฒนา เป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรมกองทั้งในด้านการเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านหางานการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่าประชาชนทั้งหลายก็จะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชน ก็มาอยู่พร้อมกันในที่เดียวกันซึ่งเป็นสองด้าน ก็หมายความถึงว่า สำคัญปลายทางคือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ และต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะให้ประโยชน์
และพระราชทานแนวทางการพัฒนาให้เป็นศูนย์ตัวอย่างด้านเกษตรกรรมที่สมบูรณ์แบบทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาดิน การวางแผนปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกร และผู้สนใจสามารถเข้ามาชมศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมและนำไปปฏิบัติตามได้ เพื่อพัฒนาอาชีพและพื้นที่ทำกินของตนให้เพิ่มผลผลิตมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริม เพิ่มฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มรายได้จากอาชีพหลักอีกทางหนึ่ง
จากนั้นขยายผลการพัฒนาพื้นที่รอบนอกศูนย์ศึกษาบริเวณลุ่มน้ำโจนให้มีความเจริญขึ้น เป็นตัวอย่างแก่การพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ต่อไปและให้นำวิธีการที่ได้ผลมาแล้วถูกต้อง ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดมาดำเนินการ ต่อมาราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก 497 ไร่ ผนวกกับที่ดินบริเวณสวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์ และได้ทรงซื้อที่ดินที่อยู่ติดกับศูนย์เพิ่มเติมเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาส่วนพระองค์เขาหินซ้อน เนื้อที่ 655 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมดของศูนย์ 1,895 ไร่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา” และต่อมาได้พระราชทานนามว่า “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” นับเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกในจำนวน 6 ศูนย์ทั่วประเทศ ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.)
ผลงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปรียบเสมือน “ต้นแบบ” ของความสำเร็จ ที่สามารถเป็นแนวทาง และตัวอย่างให้แก่พื้นที่อื่นๆ โดยรอบและได้สนองพระบรมราโชบายในการบริหารจัดการองค์กรตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมุ่งหวังที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งอเนกประสงค์ของผู้คนในทุกด้าน โดยให้ศูนย์ทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” (Living Natural Museum) และเป็นศูนย์รวมการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ (วันสต็อปเซอร์วิส) กล่าวคือ เป็นทั้งศูนย์สรรพวิทยาการ และการพักผ่อนหย่อนใจไปในคราวเดียวกัน ดังพระราชดำริที่ว่า
"...เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่คนทุกระดับสามารถที่จะมาดู จะว่าเป็นโรงเรียนก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นที่มาดูมาศึกษาก็ได้ คือ เป็นทัศนศึกษา พานักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยก็ตาม หรือไม่ใช่นักเรียน เป็นข้าราชการทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นผู้น้อยมาจนถึงชั้นผู้ใหญ่ทุกระดับ ทุกอย่าง คือ หมายความว่าทุกหน้าที่สามารถมาดูในแห่งเดียวกัน วิธีการที่จะพัฒนาในสายต่างๆ ของวิชาการ อันนี้เท่ากับเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่จะมาดูอะไร มีวิชาการใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา นอกจากนั้นไปดูศูนย์ศึกษาก็ไปหย่อนใจได้ เพราะว่าทำงานเครียดก็ไปเที่ยวศูนย์ศึกษาเหมือนไปเที่ยวสวนสาธารณะก็ได้ความรู้ด้วย นี่แหละเป็นหลักของศูนย์ศึกษาการพัฒนา...”
ที่มา: สำนักงานกปร.
www.khaohinsorn.com