ข่าว

"บึงมักกะสัน"พ่อฝากไว้...ช่วยฟอกไตคนกรุง

"บึงมักกะสัน"พ่อฝากไว้...ช่วยฟอกไตคนกรุง

23 ต.ค. 2559

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

          โครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 เมษายน และวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2528 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปรับปรุงบึงมักกะสัน เพื่อช่วยระบายน้ำและบรรเทาสภาพน้ำเสียในคลองสามเสน โดยใช้รูปแบบ “เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ” ความตอนหนึ่งว่า 

 

\"บึงมักกะสัน\"พ่อฝากไว้...ช่วยฟอกไตคนกรุง


           “...บึงมักกะสันนี้ ทำโครงการที่เรียกว่าแบบคนจน โดยใช้หลักว่าผักตบชวาที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เป็นพืชดูดความโสโครกออกมาแล้วก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้ เป็นเครื่องกรองธรรมชาติใช้พลังงานแสงอาทิตย์และธรรมชาติของการเติบโตของพืช...”


          บึงมักกะสันเป็นบึงขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขุดขึ้น ในปี พ.ศ.2474 เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายน้ำและรองรับน้ำเสีย รวมทั้งน้ำมันเครื่องจากโรงงานรถไฟมักกะสัน ทำให้บึงมักกะสันตื้นเขิน จากการตกตะกอนของสารแขวนลอย ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็ถ่ายสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยลงสู่บึงมักกะสัน จนเกิด ปัญหาภาวะสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและน้ำเน่าเสียกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคแห่งหนึ่ง

 

\"บึงมักกะสัน\"พ่อฝากไว้...ช่วยฟอกไตคนกรุง


           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงภัยแห่งภาวะมลพิษนี้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริ โดยใช้วิธีการในรูปแบบของ "เครื่องกรองน้ำ ธรรมชาติ" กล่าวคือ ให้มีการทดลองใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้วนี้ มาทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก รวมทั้งสารพิษจากน้ำเน่าเสีย โดยทรงเน้นให้ทำการปรับปรุงอย่างประหยัด และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมบึงการทำงานของระบบอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่าง พืชน้ำ ได้แก่ สาหร่าย หรือ อัลจี กับแบคทีเรีย 
           โดยในเวลากลางวัน อัลจีซึ่งเป็นพืชน้ำสีเขียวจะทำการสังเคราะห์แสง โดยใช้คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในน้ำและแสงแดด อัลจีจะนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้สร้างเซลล์ใหม่ ส่วนออกซิเจนที่เป็นผลพลอยได้นั้น ก็จะถูกแบคที่เรียนำ ไปใช้ในการย่อยสลายน้ำเสีย ซึ่งผลของปฏิกิริยานี้จะได้ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการ ดำรงชีพของอัลจี ดังนั้น อัลจี และแบคทีเรียจึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้ โดยต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน     

 

\"บึงมักกะสัน\"พ่อฝากไว้...ช่วยฟอกไตคนกรุง


            พระองค์ท่านทรงเปรียบเทียบว่า "บึงมักกะสัน" เป็นเสมือนดั่ง "ไตธรรมชาติ" ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำในฤดูฝน นอกจากนี้ ยังมีผลพลอยได้หลายอย่างเช่น ปุ๋ย เชื้อเพลิง เยื่อสานจากผักตบชวาและการปลูกพืชน้ำอื่นๆ เช่น ผักบุ้ง เป็นต้น รวมทั้งมีการเลี้ยงปลาด้วย โดยมิได้มีพระราชประสงค์จะทำให้เป็นสวนสาธารณะแต่อย่างใด 
            บึงมักกะสัน จึงเป็นบึงที่สร้างภาวะแวดล้อมด้วยวิธีธรรมชาติ เรียบง่าย ประหยัด ที่สำคัญเป็นแหล่งค้นคว้าทดลองที่พระราชทานเพื่อปวงประชาจักได้มีสุขถ้วนทั่วหน้ากัน 
            การพัฒนาบึงมักกะสันจึงนับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากพระปรีชาสามารถในเชิงวิชาการด้านนิเวศวิทยาและการแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษทางน้ำ ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง แก่ชาวไทยทั้งมวล