เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าทุเรียนมีอยู่ 2 ประเภท คือทุเรียนพันธุ์ เช่น พันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว เป็นต้น ประเภทนี้เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะมีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือทุเรียนพื้นเมือง หรือที่เรียกกันว่าทุเรียนบ้าน ซึ่งจะมีผลขนาดเล็กกว่าทุเรียนพันธุ์ และส่วนใหญ่จะมีเนื้อน้อย เมล็ดโต รสชาติเข้มข้นและกลิ่นแรงกว่าทุเรียนพันธุ์
นายก้องกษิต สุวรรณวิหค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ทุเรียนพื้นเมืองที่มีลักษณะดี รสชาติไม่ด้อยกว่าทุเรียนพันธุ์มีจำนวนไม่น้อย เนื่องจากทุเรียนพื้นเมืองมีความหลากหลายสูง แต่ละต้นมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่แต่ละต้นไม่อาจทดแทนกันได้ โดยเฉพาะภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของทุเรียนพื้นเมือง นอกจากมีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว วิถีชีวิตของคนสมัยก่อนก็เป็นส่วนสำคัญให้เกิดความหลากหลายของทุเรียนพื้นเมือง เป็นมรดกทางพันธุกรรมส่งต่อสู่ลูกหลานในปัจจุบัน
เนื่องจากในสมัยโบราณการขยายพันธุ์ทุเรียนนิยมใช้ วิธีเพาะด้วยเมล็ด ต้นไหนที่ให้ผลอร่อยถูกใจก็จะเก็บเมล็ดไปปลูกใหม่ ด้วยหวังว่าจะได้ต้นที่อร่อยเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมส่งผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรที่มีค่านี้ เสี่ยงต่อการสูญหายในระยะเวลาไม่นานนี้ ตัวอย่าง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่อำเภอบ้านตาขุน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำคลองแสง ในอดีตคนในชุมชนบริเวณนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนผลไม้แบบผสมผสาน ซึ่งหนึ่งในผลไม้หลายชนิดที่ปลูกร่วมกันคือ ทุเรียนพื้นเมือง ที่มีชื่อเรียกว่า ทุเรียนคลองแสง ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีความโดดเด่นในพื้นที่ดังกล่าว เพราะมีรสชาติหวานมัน เนื้อหนา สีเหลืองทองสวยน่ารับประทาน และกลิ่นไม่ฉุนรุนแรง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่างจากทุเรียนพื้นเมืองทั่วไป ทำให้ทุเรียนคลองแสง เป็นทุเรียนพื้นเมืองที่มีชื่อของอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกทุเรียนคลองแสงส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำ เป็นผลจากการสร้างเขื่อนรัชประภาในปี 2525 ซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ส่งผลให้ขณะนี้ยังคงเหลือทุเรียนคลองแสงเพียงในพื้นที่ หมู่ 1 ต.เขาพัง ซึ่งมีจำนวนทั้งหมดไม่ถึง 20 ต้น และล้วนแต่มีอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี ที่ยังคงหลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจก็ทำให้เกษตรกรบางรายเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น ปาล์มน้ำมันและยางพาราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ความอยู่รอดของทุเรียนพื้นเมืองที่มีแนวโน้มจะลดน้อยถอยลงไปทุกขณะ ไม่เพียงแต่เฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น ยังรวมถึงแหล่งปลูกอื่นก็อาจมีสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อความคงอยู่ของทุเรียนพื้นเมืองเช่นกัน
ดังนั้น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี ได้มีแนวคิดและได้มอบหมายให้นางสาวสุพินยา จันทร์มี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ทำโครงการสำรวจและรวบรวมพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองจากจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคใต้ตอนบน เพื่อค้นหาศักยภาพของทุเรียนพื้นเมืองที่มีอยู่ในท้องถิ่น นำมาเปรียบเทียบพันธุ์เพื่อคัดเลือกทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ที่มีลักษณะดี สำหรับนำไปส่งเสริมให้เป็นเกษตรกรหรือชาวบ้านปลูกเป็นทุเรียนพื้นเมืองเชิงการค้ามากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งข้อมูลการศึกษาความหลากหลายของทุเรียนบ้าน ของอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และการติดตามผลการประกวดทุเรียนพื้นบ้าน รวมถึงการสอบถามข้อมูลจากคนในพื้นที่ เช่น เกษตรตำบล ผู้นำชุมชน เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลก็จะเข้าไปสำรวจและเก็บรวบรวมพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านจากแหล่งปลูก มาปลูกเปรียบเทียบที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี โดยเน้นการศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ของทุเรียนพันธุ์นั้นๆ และขยายผลด้วยงานวิจัยและพัฒนา เพื่อหาวิธีการจัดการดูแลรักษาและใช้เทคโนโลยีการปลูกทุเรียนที่มีเหมาะสมของกรมวิชาการเกษตร เมื่อได้งานวิจัยที่สิ้นสุดก็จะสามารถนำไปขยายผลสู่เกษตรกรให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการไม่ต่ำกว่า 20 ปี เนื่องจากไม้ผลโดยเฉพาะทุเรียนกว่าจะปลูกจนให้ผลผลิตก็ใช้เวลา 6-7 ปี และกว่าจะได้ผลผลิตที่นิ่งมีคุณภาพตามที่ต้องการก็ต้องศึกษาต่อไปอีก 4-5 ปี หลังจากนั้นตามแผนที่ตั้งไว้ คือ ต้องนำทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่คัดเลือกแล้วว่าเป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพไปปลูกทดสอบในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่อยู่ในเครือข่ายของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 เพื่อยืนยันศักยภาพที่เกิดขึ้นของแต่ละพื้นที่ว่ามีความแตกต่างหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านใดบ้าง ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนจะเผยแพร่สู่เกษตรกร
“แม้ว่าการศึกษาเรื่องทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองนี้อาจจะใช้ระยะเวลายาวนานมาก แต่ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ สามารถค้นหาศักยภาพของทุเรียนพื้นเมืองที่แอบซ่อนอยู่ในถิ่นต่างๆให้ปรากฏสู่สาธารณชนมากขึ้น เนื่องจากทุเรียนพื้นเมืองบางต้นมีคุณภาพและลักษณะดี รสชาติอร่อย แต่ไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ทำให้ราคาขายไม่สูงหรือถูกขายในเกรดเดียวกับทุเรียนพื้นบ้านทั่วไป เกษตรกรจึงไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่มากนัก ฉะนั้นหากทำให้คนรู้จักทุเรียนพื้นเมืองมากขึ้น เกษตรกรจะได้ตระหนักถึงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ให้เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ที่สามารถสร้างมูลค่าและยกระดับทุเรียนพื้นเมืองให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่เฉพาะถิ่น สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวสุพินยา กล่าว
ทั้งนี้ ในอนาคตน่าจะมีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่มีศักยภาพออกมาให้ผู้บริโภคได้รู้จัก เช่นเดียวกับทุเรียนสาลิกา อัตลักษณ์ประจำถิ่นพังงาที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ดีไม่แพ้ทุเรียนพันธุ์การค้าอื่น
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูล ได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี เบอร์โทร 077-381860-1 อีเมล์ : [email protected]
////////////////////////