สหรัฐอเมริกามี 50 รัฐ แต่ไม่ใช่ทุกรัฐที่ต้องลุ้น
12 รัฐในสหรัฐอเมริกาที่จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ในศึกชี้ชะตาผู้นำทำเนียบขาวเช้าวันพรุ่งนี้
ผู้ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่ได้วัดที่แต่ละเสียงของประชาชน แต่ยึดตามผลรวมคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง หรือ อิเล็กโทรัล โหวต ซึ่งแต่ละรัฐ มีไม่เท่ากัน น้ำหนักจึงเทไปที่รัฐใหญ่ที่มีอิเล็กโทรัล โหวตเป็นกอบเป็นกำ แต่รัฐใหญ่หลายแห่ง ชัดเจนว่าเอนเอียงไปทางเดโมแครต หรือรีพับลิกันแบบไม่ค่อยได้ลุ้น อย่าง นิวยอร์ค กับแคลิฟอร์เนีย พรรคเดโมแครตน่าจะนอนมา เช่นเดียวกับรัฐเท็กซัส ที่จะไม่หนีจากพรรครีพับลิกัน จึงไม่มีความน่าสนใจ เท่ากับรัฐที่ผลคะแนนอาจพลิกไปในทางใดทางหนึ่ง คาดเดาได้ยาก
กองเชียร์โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ ฮิลลารี คลินตัน จึงจะต้องจับตาผลเลือกตั้งในรัฐเหล่านี้
นิวแฮมป์เชอร์–รัฐเล็กๆทางตะวันออกค่อนไปทางเหนือ แม้มีคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง แค่ 4 เสียง แต่ถูกยกให้ขึ้นแท่นน่าจับตาอันดับหนึ่ง เพราะมักเป็นดัชนีบ่งบอกใครจะชนะหากการแข่งขันสองผู้สมัครสูสีมากๆ นิวแฮมเชอร์เป็นรัฐที่มีเอกลักษณ์ทางการเมือง คละเคล้ากันระหว่างนักเคลื่อนไหวหัวเสรีนิยม คนรวยที่มักหนุนรีพับลิกัน อยู่ใกล้กับรัฐแมตซาชูเสตส์ที่มีแนวคิดออกไปในทางเสรีนิยม อุตสาหกรรมไฮเทคทกำลังขยายตัว และมีสถาบันการศึกษาขั้นสูงหลายแห่ง มีผู้ว่าการรัฐเดโมแครต กับมีส.ว.และ ส.ส.จากสองพรรค ทั้งขึ้นชื่อว่ามักตัดสินใจแทบนาทีสุดท้าย
คนรัฐนี้เคยหนุนเดโมแครตเป็นประธานาธิบดีมาทุกสมัยตั้งแต่ปี 2000 กระทั่งจอร์จ ดับเบิลยู บุช มาเฉือนชนะอัล กอร์ ไป 2 % ในปีเดียวกัน ว่ากันว่าหากอัล กอร์ ไม่พลาดท่าในรัฐนี้ ปัญหานับคะแนนอื้อฉาวที่ฟลอริดาจะไม่มีผลเลย
เพนซิลวาเนีย–รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 20 เสียง และเทคะแนนให้ประธานาธิบดีเดโมแครต มาตั้งแต่ปี 1988 แต่คราวนี้ ทรัมป์อาจฝ่าด่านทะลุทะลวงผ่านทางชุมชนแรงงานที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงจากความตกต่ำภาคอุตสาหกรรม ฮิลลารีคลินตัน จะต้องฝากความหวังไว้ที่เมืองฟิลาเดลเฟียและพิตส์เบิร์ก และเขตชานเมืองใหญ่ทั้งสอง คะแนนจากสตรีที่มีการศึกษาน่าจะส่งให้เธอชนะได้
เวอร์จิเนีย – รัฐทางใต้ ที่มีคะแนนผู้เลือกตั้ง 13 เสียง ที่พรรครีพับลิกันเคยวางใจในความเหนียวแน่นมาหลายสิบปี ก่อนมาถูกบารัก โอบามา ช่วงชิงไปในปี 2008 และ 2012 ในครั้งนี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงในย่านผู้มีอันจะกินใกล้เมืองหลวงสหรัฐ น่าจะหันหลังให้กับผู้สมัครจอมอื้อฉาวของรีพับลิกัน และมอบชัยชนะให้กับฮิลลารี
นอร์ท คาโรไลนา – รัฐทางใต้ ที่มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 15 เสียง เป็นรัฐเดายากสุดอีกรัฐว่าจะออกหัวหรือก้อย ในศึกเลือกตั้งคราวนี้ ชาวอเมริกันแอฟริกันจำนวนมากเคยเทคะแนนให้เดโมแครตในปี 2008 แต่กลับมาหารีพับลิกันในอีก 4 ปีต่อมา จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าของพลเมืองกลุ่มนี้ไม่สูงนัก เป็นสัญญาณน่ากังวลของพรรคเดโมแครต
ฟลอริดา- รัฐที่กลายเป็นรัฐชี้ขาดชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีหลายหน และมีความหลากหลายของประชากรอย่างมากทั้งวัยเกษียณ คนรุ่นใหม่หลากหลายเชื้อชาติ ตลอดจนมีความเป็นเขตเมืองกับชนบท เป็นปัจจัย ใครที่จะได้ 29 คะแนนคณะผู้เลือกตั้งไป น่าจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการดึงผู้สนับสนุนออกมาใช้สิทธิ์
มิชิแกน – รัฐทางภาคกลางค่อนไปทางเหนือ เป็นฐานเสียงเหนียวแน่นของพรรคเดโมแครตมานานหลายสิบปี แต่ทรัมป์มองเห็นโอกาสจากกลุ่มแรงงานที่เจ็บปวดกับความตกต่ำจากอุตสาหกรรมรถยนต์ ผู้สมัครทั้งสองจึงพยายามถึงนาทีสุดท้ายที่จะคว้า 16 เสียงในรัฐนี้
วิสคอนซิน- คล้ายกับเพื่อนบ้านมิชิแกน ถิ่นที่อยู่ของชนชั้นแรงงานผิวขาว ที่น่าจะขานรับนโยบายของทรัมป์ แม้พรรคเดโมแครตยึดหัวหาดมานานมากในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดี กระนั้น รัฐที่มีคะแนนผู้เลือกตั้ง 10 เสียง มีผู้ว่าการรัฐเป็นรีพับลิกัน และยังเป็นถิ่นของส.ส.พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ
ไอโอวา-รัฐภาคกลางสหรัฐ เป็นรัฐมีบทบาทตัดสินชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกรัฐหนึ่งและเดายาก ชาวรีพับลิกันที่นี่มักจะอนุรักษ์นิยมมากกว่าแนวทางของพรรคที่พวกเขาสนับสนุน แต่ไอโอวา ที่มีเสียงคณะผู้เลือกตั้ง 6 เสียง ยังมีกลุ่มคนหัวก้าวหน้าปะปนไม่น้อย และคนกลุ่มนี้ไม่ได้สนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเสมอไป
โคโลราโด-รัฐแห่งเทือกเขาร็อคกี้ เคยสนับสนุนบารัก โอบามาทั้งสองสมัย แต่ก็สนับสนุนจอร์จ ดับเบิลยู บุช สองครั้งเช่นกัน รัฐตะวันตกแห่งนี้มักโน้มเอียงไปทางรีพับลิกัน แต่การหลั่งไหลเข้ามาของคนรุ่นใหม่ คนมีการศึกษาและประชากรพูดสเปนกลุ่มใหญ่ เลยทำให้รัฐที่มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 9 เสียงให้แย่งชิง น่าจะเข้าทางพรรคเดโมแครตมากกว่า
แอริโซนา – รัฐตะวันตกเฉียงใต้ ถิ่นเก่าแก่ของรีพับลิกัน เป็นบ้านของ แบร์รี โกลด์วอเตอร์ หนึ่งในประธานาธิบดีรีพับลิกันหัวอนุรักษ์ที่สุด เมื่อปี 1964 และเป็นบ้านของ ส.ว.จอห์น แมคเคน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคในปี 2008 กระนั้น โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป จากผู้มีสิทธิออกเสียงพูดภาษาสเปน ที่รับไม่ได้กับจุดยืนต่อต้านผู้อพยพของทรัมป์ อาจหยิบยื่นความหวังให้เดโมแครตคว้า 11 เสียงคณะผู้เลือกตั้งไปครองเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีก็เป็นได้
เนวาดา-รัฐตะวันตกที่มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 6 เสียง เคยหนุนโอบามาสองครั้ง จอร์จ ดับเบิลยู บุช สองสมัย และบิล คลินตัน ทั้งสองสมัย ประชากรกลุ่มพูดสเปนอาจเป็นตัวชี้ขาดสำหรับฮิลลารี แต่ผลกระทบหนักหน่วงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2008 อาจเป็นโอกาสของทรัมป์เช่นกัน
ยูทาห์ – รัฐตะวันตกที่จริงๆแล้วเป็นรัฐที่รีพับลิกันมั่นใจมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาก็ว่าได้ เพราะประชารราว 60 % นับถือนิกายมอร์มอน และในภาพรวม ย่อมสนับสนุนจุดยืนอนุรักษ์นิยมทางสังคม ของรีพับลิกัน แต่คนกลุ่มเดียวกันนี้ไม่อาจรับบุคลิกภาพและการปฏิบัติต่อผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยของทรัมป์ได้ แต่ก็คงไม่หันไปหาคลินตันเช่นกัน ความน่าสนใจที่รัฐนี้คือ อีแวน แมคมูลิน ผู้สมัครอิสระจากพรรคที่สาม ซึ่งเป็นมอร์มอน อาจกลายเป็นคนที่ฉกคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 6 เสียงไปแทน