ตำนานข้าวหอมไทย (จบ)
โดย - รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ
คราวที่แล้วได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับที่มาของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยนักวิชาการข้าวที่พัฒนาข้าวพันธุ์นี้ขึ้นมาคือ ดร. สุนทร สีหะเนิน ซึ่งเพิ่งจากโลกนี้ไปได้ไม่นาน แต่ตำนานของข้าวหอมมะลิที่ถูกสร้างไว้ยังคงจารึกไว้ตลอดไป คิดว่าหลายคนคงไม่ทราบว่าผลงานพัฒนาพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ของไทยมีที่มาอย่างไร และไม่ทราบว่านักวิชาการที่พัฒนาข้าวพันธุ์นี้ขึ้นมาคือใคร
เรื่องของข้าวขาวดอกมะลิ 105 นี้ คือตัวอย่างอันดีที่เป็นผลงานทางวิชาการของนักวิชาการ และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศปีละได้นับแสนล้านบาทอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งดั้งเดิมนั้น ข้าวขาวดอกมะลิถูกนำมาจากบ้านแหลมประดู่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี แล้วนำไปปลูกที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2488 ดังนั้น ถิ่นกำเนิดของข้าวหอมมะลิจึงมีที่มาจากพื้นที่ในภาคตะวันออกของไทยบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.ชลบุรีกับฉะเชิงเทรา แต่ว่าข้าวหอมมะลิที่ขึ้นชื่อในปัจจุบันนี้คือข้าวที่ปลูกบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ในภาคอีสาน
งานพัฒนาพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เริ่มต้นมาจาก ความร่วมมือของรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาส่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องยีนส์เข้ามาช่วยเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ไทยโดยใช้วิชาการสมัยใหม่ เริ่มเรื่องตั้งแต่ปี 2493 ขณะนั้น ดร. สุนทร เป็นนักวิชาการหน้าใหม่ ได้ไปรวบรวมพันธุ์ข้าวจากแปลงของชาวนาในพื้นที่ฉะเชิงเทราและชลบุรี โดยมีการบันทึกไว้ว่าทางผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ได้ให้พนักงานจากท้องถิ่นต่างๆ เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เรื่องดินและเรื่องปุ๋ย
จากนั้นจึงให้ลงพื้นที่ออกไปปฏิบัติการเรื่องการทดลองพันธุ์ข้าวและทดลองปุ๋ยยังท้องถิ่นที่ประจำอยู่ ซึ่งพนักงานที่ได้รับการอบรมรุ่นแรกนี้ได้แสดงความสามารถทันที่ที่กลับไปถึงท้องถิ่น โดยพนักงาน 37 คน จาก 35 อำเภอ ได้รวบรวมรวงข้าวจากชาวนา 938 แห่งทั่วประเทศ เป็นจำนวนกว่า 1.2 แสนรวงหรือสายพันธุ์ ซึ่งนับว่ามากเป็นประวัติการณ์ เพื่อส่งมาทำการคัดเลือกพันธุ์ตามสถานีทดลองต่างๆ
ในปีต่อไป “ข้าวขาวดอกมะลิ” หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า “ข้าวหอมมะลิ” ถูกรวบรวมมา 199 รวง โดย ดร. สุนทร ซึ่งตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ คือการเก็บพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจะต้องมีหลักการที่น่าเชื่อถือ โดยแต่ละพันธุ์ต้องมีการปลูกอย่างต่ำในพื้นที่ 15 ไร่
นักวิชาการเกษตรแต่ละคนต้องเก็บพันธุ์ข้าวให้ได้ 200 รวง ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง แต่ว่าสิ่งที่ ดร. สุนทร ได้ดำเนินการจนได้ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 นั้น ไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ กำหนดไว้ทั้งหมด เพราะว่าบางพันธุ์ปลูกในพื้นที่ไม่ถึง 15 ไร่ แต่ว่ารวงสวยงามมาก รวมทั้งมีความหอมและรสชาติดีมาก ด้วยความเสียดายจึงเก็บพันธุ์เหล่านั้นมาด้วย
ส่วนที่ว่าทำไมจึงได้มาเพียง 199 รวง แทนที่จะเป็น 200 รวงตามหลักวิชาการ เพราะว่าเมื่อก่อนนี้การเดินทางเข้าแปลงลำบากมาก ทำให้รวงข้าวที่เก็บมาตอนต้น 200 รวงนั้น หล่นหายไปหนึ่ง หลังจากนั้นจึงนำข้าวแต่ละรวงมาปลูกเป็นแถว แล้วศึกษาว่าลักษณะของข้าวแต่ละแถวที่ได้มาจากต่างรวงกันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ในที่สุดก็พบว่า ข้าวขาวดอกมะลิแถวที่ 105 เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะดีที่สุดและให้ผลผลิตดีที่สุด นี่คือที่มาของ “ขาวดอกมะลิ 105” พันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะความใส่ใจและตั้งใจของนักวิชาการสมัยก่อน ที่ไม่ละทิ้งรายละเอียดใดๆ และยังคิดออกนอกกรอบที่ถูกกำหนดมา จนในที่สุดเราก็ได้ข้าวที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาลในปัจจุบัน และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้