ข่าว

"หญ้าดอกขาว" วัชพืชช่วยลดอยากสูบบุหรี่

"หญ้าดอกขาว" วัชพืชช่วยลดอยากสูบบุหรี่

07 มิ.ย. 2560

"หญ้าดอกขาว"วัชพืชช่วยลดอยากสูบบุหรี่

 

          “หญ้าดอกขาว” หรือชื่ออื่น หญ้าสามวัน เสือสามขา หนาดหนา หญ้าหมอน้อย เป็นวัชพืชที่มีคุณค่าทางยามหาศาล โดยเฉพาะลดความอยากบุหรี่ หลังถูกบรรจุเข้าสู่บัญชีหลักแห่งชาติ ปี 2554 ซึ่งช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้แล้ว ยังมีสรรพคุณอีกมากที่ให้ประโยชน์ต่อคนเรา

          ต้นกำเนิด ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงบ้านเราด้วย ซึ่งจะพบได้ทั่วไปตามริมทางเดิน สนามหญ้า ที่รกร้าง ทุ่งนาชายป่า ฯลฯ

          เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุ 1-5 ปี อยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE) ความสูงของต้น 20-80 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านน้อย

 

\"หญ้าดอกขาว\" วัชพืชช่วยลดอยากสูบบุหรี่

 

         ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ออกเรียงสลับ ปลายใบมน  โคนใบมนหรือแหลม ขอบใบหยักหรือจักเป็นฟันเลื่อย สีเขียวเข้ม มีขนทั้งสองด้านใบ

          ดอก ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด และมีช่อแยกแขนง มีใบประดับ ดอกย่อยจะเล็กเป็นหลอดยาว สีม่วงอ่อนอมสีชมพู เมื่อบานเต็มที่สีจะจางลง พอแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว

          ผล เป็นพู่ ทรงกระบอกสีน้ำตาลเข้ม มีเมล็ดเดียว ด้านบนมีขนสีขาวปกคลุม เมื่อแก่จะแตกบาน ช่วยทำให้เมล็ดลอยไปตามลม

          ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด เติบโตได้ทุกที่ ชอบความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน

สรรพคุณทางยา : ตามตำรายาพื้นบ้าน

         ต้น - ใช้ต้น 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 4 ถ้วย ใช้ดื่มต่างน้ำชา บำรุงเลือด ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง โรคกระเพาะ แก้บิด เหน็บชา ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดหลัง ปวดข้อ หากเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ใช้ทั้งต้นนำมาตากแห้งไว้ต้มกินเป็นประจำ ฯลฯ

         เมล็ด – ป่นใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้ตัวร้อน แก้ไข้ทับระดู แก้เจ็บคอ หอบ ขับพยาธิเส้นด้าย รวมไปถึงช่วยลดเสมหะและน้ำมูกเวลาเป็นหวัด

 

\"หญ้าดอกขาว\" วัชพืชช่วยลดอยากสูบบุหรี่

 

         ใบ - รสเย็น แก้หลอดลมอักเสบ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หรือตำผสมกับน้ำนมคน แล้วกรองเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาแดง ตาเปียก ตาแฉะ หรือตำใบพอกปิดแผล สมานแผล แผลบวมอักเสบ ดูดฝีหนอง แก้บวม

         ราก - ต้มน้ำดื่มขับพยาธิ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด แก้ริดสีดวง ขับระดูของสตรี ตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้ทั้งต้นและราก ตากแห้งบดเป็นผง รักษาแผลสด แผลเรื้อรัง ผิวหนังพุพอง ห้ามเลือด ฯลฯ

แหล่งที่มา : หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน.(วิทยาบุญวรพัฒน์).,หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.(ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).,ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.,