ย้อนวันทรงพระเยาว์"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10"
ย้อนวัยทรงพระเยาว์ "สมเด็จพระบรม" ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตอบรับการขึ้นทรงราชย์ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 "
วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เมื่อเวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช 1314 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 นับเป็นปีที่ 7 แห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชสมภพ
ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยพระประสูติการต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัส แซ่ซ้องในพระบุญญาธิการ ดังที่ ศ.ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้บรรยายถึงบรรยากาศก่อนเวลาพระราชสมภพ ตราบจนถึงนาทีอันเป็นมงคลฤกษ์เสด็จพระราชสมภพว่า
“...วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา 17 นาฬิกา กับ 45 นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้ อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆ ดวง นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ว่า พระราชโอรส หรือพระราชธิดา กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่า พระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว...ดวงใจทุกดวงมีความสุข...”
นับแต่นั้นมา ประชาชนชาวไทยต่างเฝ้าติดตามข่าวเกี่ยวกับ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ด้วยความจงรักภักดี และต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัสยิ่งขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญวัย มีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เพียบพร้อมด้วยพระราชจริยวัตรและพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา ทรงมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ขณะพระชนมายุได้ 1 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายตามดวงพระชะตา ว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”
พระนาม “วชิราลงกรณ” นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงตั้งถวาย มาจาก “วชิรญาณะ” พระนามฉายาขณะผนวชในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ “อลงกรณ์” จากพระนามในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ขึ้นเมื่อทรงมีพระชันษา 1 เดือน กับ 18 วัน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน พ.ศ. 2495 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2495 เช้าวันรุ่งขึ้น (15 กันยายน) จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี เริ่มด้วยพอถึงพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายพระขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทองลงในพระขันสาคร แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา
พระมหาราชครูเชิญเสด็จขึ้นพระอู่และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาศตามประเพณีพิธีของพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงวางพระราชภัณฑ์ลงในพระอู่ตามพระราชประเพณีแล้ว พระมหาราชครูเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นพระอู่แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเวียนเทียนครบรอบตามประเพณี สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ด้วย ในการนี้มีการถ่ายทอดเสียงในพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ
ครั้นเมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาขึ้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลศึกษาที่พระที่นั่งอุดรภาค พระราชวังดุสิต และทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนจิตรลดา จากความตอนหนึ่งในหนังสือ “สี่เจ้าฟ้า” ฉบับเรียบเรียงใหม่ของ ลาวัณย์ โชตามระ ได้เล่าไว้ว่า
เรื่องการเรียน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงชื่นชอบ วิชาคำนวณ มากกว่าวิชาอื่น ซึ่งมักได้คะแนนเต็มเสมอ วิชาที่โปรดมากอีกอย่าง คือวาดเขียนและปั้นรูป ทูลกระหม่อมฟ้าชายโปรดเขียนรูปและปั้นดินน้ำมัน ทรงปั้นรูปรถยนต์ เรือรบ ได้เหมือนของจริงมาก ได้รับพระราชทานเครื่องใช้ในการเขียนภาพสีน้ำมันจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งก็มิได้ทรงหวงแหน ได้ทรงแบ่งประทานให้มหาดเล็กไว้ใช้ด้วย
ในตอนบ่ายหลังเลิกเรียน มักทรงชวนมหาดเล็กถีบจักรยานไปเลือกมุมใดมุมหนึ่งของสวนจิตรลดา แล้วประทับเขียนรูปอย่างตั้งพระทัย แต่ภาพที่ได้แทนที่จะเป็นภาพทิวทัศน์ในบริเวณสวนจิตรลดา กลับเป็นภาพภูเขาอยู่ในหมอก เหมือนภูมิประเทศที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ หรือบางครั้งก็เป็นภาพเรือรบจอดอยู่ในทะเล นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ยังทรงฝึกหัดทำสวนร่วมกับพระสหายที่ร่องผักแถวยาวๆ หลังโรงเรียน ผักที่ทรงปลูกร่วมกับพระสหายนั้นมีทั้งพริก มะเขือ บวบ ต้นหอม ผักกาด ฯลฯ และเมื่อเสด็จกลับจากโรงเรียนแล้ว ก่อนจะเสด็จเข้าบรรทมตอนหัวค่ำ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะต้องเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เพื่อรับพระบรมราโชวาท และทรงสวดมนต์ก่อน
เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็โปรดเล่นเครื่องยนต์กลไกต่างๆ อย่างเด็กผู้ชายทั้งหลาย เช่น รถยนต์ เครื่องบิน รถถัง เรือ โปรดทอดพระเนตรหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวกับการช่าง การก่อสร้าง และมีพระนิสัยใฝ่รู้ เมื่อทรงสงสัยสิ่งใดก็จะทรงตั้งปัญหาถาม และจะทรงถาม จนกระทั่งได้รับคำอธิบายเป็นที่พอพระทัย
และในวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจารึกไว้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์
ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม