เสวนาวันสิทธิมนุษยชนปี59
เวทีเสวนาวันสิทธิมนุษยชนปี 59 วอนภาครัฐยึดสิทธิปชช.เป็นหลัก แนะใช้แผนพัฒนาฉบับ 3 พลิกโฉมประเทศ "บรรจง" แฉ โครงการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สวนทางตัวชี้วัดการพัฒนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จัดเสวนาหัวข้อ "สิทธิมนุษยชนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน" เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธ.ค.ประจำปี 2559 โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายเสรี นนทสูตร ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นายบรรจง นะแส ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนและนายปรีดา เตียสุวรรณ ประธานกรรมการบริษัทแพรนดา จิวเวลรี่ จำกัด
โดนนายชาญเชาว์ กล่าวว่า ความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิมนุษยชนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเรื่องสำคัญซึ่งต้องเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงต้องส่งเสริมคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สอดรับกับวิสัยทัศน์ประเทศที่วางไว้ว่า มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ของชาติ โดยรัฐต้องมีความรับผิดชอบในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับคนในประเทศ เพื่อสร้างสังคมที่สงบสุข ซึ่งต้องให้ทุกหน่วยงานภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในการพัฒนาประเทศโดยขับเคลื่อนตามแผน พัฒนาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 อันจะเป็นการพลิกโฉมประเทศใหม่
ด้านนายเสรี กล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่หลายประเทศไม่ชอบมาตรฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้สิทธิมนุษยชนกลายเป็นกระแสหลักในการพัฒนาประเทศ โดยต้องคิดอย่างบูรณาการและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น กรณีคนพิการ ไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวพันทุกหน่วยงานจึงต้องคิดอย่างเป็นระบบว่าคนพิการต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนปกติ โดยในขณะนี้ 10 เปอร์เซ็นต์ ของคนจนที่สุดและรวยที่สุดห่างกันถึง 34 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาที่ทำให้ช่องว่างเหล่านี้ลดลง ทั้งนี้การพัฒนาต้องไม่มุ่งแต่เรื่องตัวเลขเท่านั้นและต้องดูแลทุกคนไม่ใช่แค่คนที่มีบัตรประชาชนไทยเท่านั้นจึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
ขณะที่นายบรรจง ได้ยกกรณีปัญหาการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านการประมงของประเทศมาเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเห็นว่าประชาชนมีสิทธิรู้เรื่องที่เป็นทิศทางของโลก คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนและประเทศไทยต้องไม่นิ่งดูดาย เนื่องจากอาจเกิดปัญหากีดกันทางการค้าตามมา ซึ่งตนเห็นว่าในทางปฏิบัติหน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามแนวทางที่ยึดเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ตนขอตั้งคำถามไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายหลายเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG เช่น มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่ประกาศว่าจะลดคาร์บอน มีนโยบายทวงคืนผืนป่าแต่เอาประชาชนออกจากป่าแล้วไม่มีแผนในการปฏิรูปหรือถือครองที่ดิน ไม่มีมาตรการลดการเหลื่อมล้ำ
"มีผลสำรวจของนักวิชาการจุฬา ระบุว่ามีครอบครัวมหาเศรษฐีของประเทศไทยถือครองที่ดินถึงกว่า 6.3 แสนไร่ แล้วจะลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร มีนโยบายให้ประชาชนได้ถือครองที่ดินได้อย่างไร เวลานี้คนรุ่นใหม่อยากไปปลูกผัก ทำนา จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อไม่มีที่ดิน เพราะคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ยังต้องเช่าที่ดินทำกิน สิ่งที่เรากังวลคือเรื่องมลพิษในระยะยาว เพราะในภาคตะวันออกมีเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงการที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ภาคใต้ สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ และเทพา สิ่งเหล่านี้กระทบกับการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ เอ็นจีโอเห็นว่าตัวชี้วัดของ SDG มีประโยชน์ในการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ปัญหาคือโครงการต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตอบโจทย์ตัวชี้วัด SDG ตรงไหน"นายบรรจง กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานดังกล่าวยังมีการมอบรางวัลให้กับบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ป้องกันและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559 จำนวน 10 รางวัล ที่น่าสนใจ ประเภทบุคคลทั่วไป นายสุรศักดิ์ สินลี้ กรรมการสมาพันธ์เครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อสู้เรียกร้องขอสัญชาติไทยให้กลุ่มชาติพันธุ์ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ที่ปรึกษากลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ มีผลงานด้านการต่อสู้เรียกร้องสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน น.ส.ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ทนายความที่ทำคดีด้านการปกป้องคุ้มครองการค้ามนุษย์ ประเภทเด็กและเยาวชน นายสุจริต กันชุม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้นำเยาวชนในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นการพัฒนาเพื่อป้องกันและพิทักษ์เด็กภายใต้แนวคิด เด็กนำผู้ใหญ่หนุน ประเภทองค์กรภาครัฐ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดำเนินการเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินชุมชน การคุ้มครองสิทธิชุมชนในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ที่ดิน อันเป็นจุดเริ่มต้นของแม่แจ่มโมเดลพลัสในการแก้ปัญหาป่าไม้กับชุมชน จนนำไปสู่การขยายผลทั่วประเทศ ประเภทองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ทำงานด้านการต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนชาวกะเหรี่ยง และบ้านเอื้อพรองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ ต.ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร เป็นสถานพักพิงพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน ที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของครอบครัว