ข่าว

 “แพลตตินัม”ปลาการ์ตูนพันธุ์ใหม่!

11 ธ.ค. 2559

โดย - เม่นแคระ

 

            จากที่กรมประมงได้พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงาม อาทิ ปลาการ์ตูน ม้าน้ำ เห็ดทะเล กุ้งทะเลสวยงาม ฯลฯ ด้วยประสงค์ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ที่ล่าสุดนักวิจัยของกรมได้ทำการศึกษาวิจัยผสมพันธุ์ปลาการ์ตูน “แพลตตินัม” สายพันธุ์ใหม่ที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ จนประสบผลสำเร็จและได้มีการนำผลงานนั้นออกสู่สายตาประชาชน โดยเฉพาะแฟนพันธุ์แท้คนรักปลาสวยงาม

           การเลี้ยงปลาทะเลสวยงาม ปัจจุบันได้รับความนิยมมากมายทีเดียว เพราะหลายชนิดมีรูปร่างแปลกตา สีสันสวยงาม อีกทั้ง มีพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่น่าสนใจ จึงกลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดบรรดานักเลี้ยงปลาตู้ทะเลจำลองได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง “แพลตตินัม” ปลาการ์ตูนพันธุ์ใหม่ ที่แม้ว่าช่วงเวลานี้บรรยากาศการซื้อขายปลาสวยงามทั่วไปดูจะเงียบเหงาลงไปบ้างเพราะถูกจัดให้อยู่ในโหมดสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ทว่า เหล่าปลาพันธุ์นี้ยังคงได้รับความสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะแฟนพันธุ์แท้ที่เป็นชาวต่างชาติ

 

 “แพลตตินัม”ปลาการ์ตูนพันธุ์ใหม่!

 

          ดังที่ โกวิทย์ เก้าเอี้ยน ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง บอกถึงรายละเอียดของปลาการ์ตูนแพลตตินัมว่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Amphiprion percula เป็นลูกผสมระหว่างปลาการ์ตูน percula กับปลาการ์ตูนที่มีลักษณะภายนอกสีขาวค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อผสมออกมาแล้วจะได้ลูกปลาที่ภายนอกเหมือนพ่อแม่พันธุ์ทุกตัว ทว่า สีขาวข้างลำตัวมีถึง 40 เปอร์เซ็นต์ แต่จะมีสีเหลืองเป็นลักษณะเด่น ต่อเมื่อนำรุ่นลูกผสมกันเองในรุ่นต่อไป จะให้ลูกในลักษณะปลา แพลตตินัม คือ มีสีขาวทั่วลำตัว ยกเว้นบริเวณครีบและปากที่จะมีสีเหลืองหรือดำที่จะกลายเป็นลักษณะเด่นของปลา

          “สายพันธุ์นี้ในแต่ละคอก ลูกปลาที่ได้จะมีหลายลวดลาย ทั้งแบบจิ๊กซอว์ แบบแพตตินัม และส่วนที่เหลือยังคงลักษณะสายพันธุ์ percula เช่นเดิม ทั้งสามลวดลาย ถือว่าโดดเด่นเป็นอย่างมากเมื่ออยู่ในตู้ปลาและท้องทะเลธรรมชาติ จึงเหมาะนำมาจัดแสดงในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำสาธารณะและเลี้ยงในตู้ของนักนิยมสัตว์น้ำสวยงาม” ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง กล่าว 

 

 “แพลตตินัม”ปลาการ์ตูนพันธุ์ใหม่!

 

           ด้านการเพาะเลี้ยง เจษฎา ถังมณี เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง เสริมว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้เริ่มศึกษาเพาะพันธุ์ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งการเลี้ยงปลาการ์ตูนชนิดนี้ให้สมบูรณ์พร้อมผสมพันธุ์และวางไข่ ต้องใช้เวลา 15-18 เดือน โดยเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาในตู้กระจกขนาด 50-100 ลิตร ด้วยระบบปิด น้ำหมุนเวียน ซึ่งทำให้ปลาปลอดเชื้อและเลี้ยงได้ในอัตราที่หนาแน่น ส่วนอาหารใช้ทั้งสำเร็จรูป เนื้อกุ้งบดผสมสาหร่าย และวิตามิน  

         ปัจจุบันศูนย์ฯ มีพ่อแม่พันธุ์ปลาการ์ตูนแพลตตินัม ที่ให้ลูกจำนวนไม่มากนัก โดยจะให้ไข่แค่ 50-100 ฟอง/ครั้ง/แม่ และในระยะเวลา 1 เดือน จะวางไข่ได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น ด้วยอัตราการวางไข่ที่มีปริมาณน้อย และโอกาสที่จะได้ลูกพันธุ์ปลาในลักษณะนี้ไม่ง่ายนัก ปลาการ์ตูนแพลตตินัมจึงถูกกำหนดราคาขายค่อนข้างสูงระดับหลักหมื่นบาทในช่วงแรกเพาะพันธุ์ได้ (ราวปี 2557) และลดหลั่นกันลงไป ขึ้นอยู่กับลักษณะ รูปร่าง สี ความสมบูรณ์ของปลาตัวนั้นๆ ซึ่งจะถูกคัดเป็นระดับเกรด เอ เกรดบี เกรดซี

        อย่างไรก็ตาม สำหรับ อนาคตปลาการ์ตูนชนิดนี้ กรมประมงเตรียมจะผลักดันให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจสวยงามชนิดใหม่ของวงการสัตว์ทะเลสวยงาม และหลังจากนี้ได้วางแผนเตรียมนำไปปล่อยลงสู่ธรรมชาติเพื่อเพิ่มสีสันให้กับระบบนิเวศของท้องทะเลไทยต่อไป