ข่าว

“จันทร์หอม”มหัศจรรย์1ใน4ไม้มงคลชั้นสูงงานพระราชพิธี

“จันทร์หอม”มหัศจรรย์1ใน4ไม้มงคลชั้นสูงงานพระราชพิธี

02 ม.ค. 2560

โดย - ดลมนัส กาเจ

           ในบรรดา 9 ไม้มงคลนาม ตามความเชื่อของไทยมาแต่โบราณ จะไม่มีชื่อ "จันทร์หอม" เนื่องเพราะ “จันทร์หอม” หรือไม้จันทร์นั้น ถือเป็นไม้มงคลชั้นสูง และเป็น 1 ในของหอม 4 อย่าง ได้แก่ กลิ่นของกฤษณา กระลำพัก จันทน์หอม และดอกไม้หอม และยังเป็นไม้มงคลประจำจังหวัดนครปฐม นิยมนำไปประพรมในพระราชพิธีต่างๆมาตั้งแต่อดีต

           สอดคล้องกับข้อมูลของนักวิชาการผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางราชสำนัก และพระราชพิธี และล่าสุดในปี พ.ศ.2559 ได้รับเชิญให้มาร่วมบรรยายถ่าดทอดสดในการพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ” กล่าวว่าเป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม และเป็นไม้ที่คนส่วนใหญ่ถือว่ามีค่า เพราะเชื่อว่ามีคุณค่าและหายาก จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง จึงนำมาใช้ในงานที่ต้องเชิดชูพระเกียรติยศ และในเวลาที่ถวายพระเพลิง โดยประโยชน์จากไม้จันทน์ที่ใช้ในพิธีการ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การทำพระโกศไม้จันทน์ และใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงหรือฟืน สำหรับถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิง

 

“จันทร์หอม”มหัศจรรย์1ใน4ไม้มงคลชั้นสูงงานพระราชพิธี

 

          อย่างไรก็ตาม คนไทยยุคใหม่เริ่มรู้จักไม้จันทร์หอมมากขึ้น เมื่อครั้งที่มีพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชมุมารี ฯ โปรดให้นำไม้จันทร์สร้างพระโกศพระศพสมเด็จย่าเมื่อปี 2539 และพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2551 ที่นำไม้จันทร์หอมที่ตายโดยธรรมชาติจาก ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

         ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 คณะเจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง นำโดยนายจำลอง ยิ่งนึก ผู้อำนวยการกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง พร้อมด้วยนายฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์ นายสมชาย บำรุงทรัพย์ รองู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้แทนกรมป่าไม้ นายอำเภอกุยบุรี ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง เดินทางไปสำรวจและคัดเลือกไม้จันทน์หอมที่จะใช้ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีไม้จันทน์หอมขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

         โดยทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้จัดเตรียมไม้จันทน์หอม ที่จะใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพไว้ 19 ต้น ให้คณะผู้แทนจากสำนักพระราชวังคัดเลือก หลังจากคณะเข้าไปสำรวจแล้วได้คัดเลือกไว้ 4 ต้น คือลำดับที่ 11 12 14 และ 15 และได้ฤกษ์งาม ยามดี เวลา 14.09-14.39 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 กำหนดพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมนำมาสร้างสร้างพระโกศพระศพพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

“จันทร์หอม”มหัศจรรย์1ใน4ไม้มงคลชั้นสูงงานพระราชพิธี

 

         อดีตนั้น การคัดเลือกไม้จันทน์หอม เพื่อสร้างพระโกศไม้จันทน์ ในโบราณ ทางสำนักพระราชวัง จะใช้ไม้จันทน์หอม ที่ถือเป็นไม้มงคลชั้นสูง ในพระราชประเพณี จนถึงปัจจุบัน เหตุผลคือสมัยก่อนงานพระราชทานเพลิงศพ มักนำไม้จันทน์มาเป็นฟืนในการพระราชทานเพลิงศพ แต่สำหรับกษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูง โดยจะมีการแกะสลักสลักลวดลายขึ้นเป็นพระโกศไม้จันทน์ โดยเน้นต้นจันทน์ยืนต้นตายเองโดยธรรมชาติ ที่มีผิวนอกผุเปื่อยแล้วเหลือแก่นไม้ ก็จะมีกลิ่นหอมมาก นอกจากจะนำไม้จันทร์หอมเป็นเชื้อเพลิงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศ์ชั้นสูง ยังใช้กับงานเกี่ยวเนื่องกับพระศาสนาด้วย เหตุที่ใช้ไม้จันทน์ยืนต้นตายเป็นเพราะไม้จันทน์ที่มีอายุมากกว่า 100 ไป และมีความหอมมากกว่าไม้จันทร์ที่ยังเป็นอยู่

         นายกาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่เคยระบุก่อนหน้านี้ว่า สภาพป่าดิบแล้งของอุทยานแห่งชาติกุยบุรีนั้น ถือเป็นเป็นพื้นที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของ ต้นจันทน์หอม และต้นไม้จันทร์หอมจากพื้นที่แห่งนี้เคยใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี รวมถึงพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยใช้ไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายทั้งหมด และเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 เซนติเมตร

 

“จันทร์หอม”มหัศจรรย์1ใน4ไม้มงคลชั้นสูงงานพระราชพิธี

 

         ด้าน ผศ.ดร.บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวนวัฒนวิทยาบอกว่า ไม้จันทน์หอม เป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดนครปฐม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Sandalwood ชื่อทางวิทยาศาสตร์ม คือ Mansonia gagei J. R. Drumm. ex Prain อยู่ในวงศ์ Sterculiaceae นอกจากนี้ไม้จันทน์หอมยังมีชื่อสามัญว่า Kalamet มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และอินเดีย โดยในประเทศไทยจะกระจายอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ในเขตอุทยายนแห่งชาติกุยบุรี บริเวณน้ำตกห้วยยาง เขาสามร้อยยอด ตามด้วยนครศรีธรรมราช และสระบุรี ขึ้นในสภาพที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 400 เมตรขึ้นไป

        ลักษณะ เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงเต็มที่ราว 30 เมตร แต่ในประเทศไทยจะพบมากราว 20 เมตร มีเส้นรอบวงเกือบ 2 เมตร ลักษณะเด่นคือเรือนยอดเป็นรูปกรวยสูง 15-18 เมตร ชูยอดเหนือต้นไม้อื่น เปลือกต้นสีเทาแตกเป็นร่อง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบเป็นรูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน ความกว้างของใบประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาว 8-14 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้ารูปหัวใจตื้น ๆ มีลักษณะเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบจักฟันเลื่อยตื้น ๆ มีเส้นโคนใบประมาณ 3-5 เส้น ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและซอกใบ ดอกเป็นสีขาว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกประมาณอย่างละ 5 กลีบ โดยที่กลีบเลี้ยงยาวกว่ากลีบดอก ออกดอกในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ส่วนผลเป็นผลปีกเดียวรูปกระสวย ความยาวของผลประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มักออกผลเป็นคู่

        ชอบขึ้นตามป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณทั่วไป เนื้อไม้ละเอียด สีขาวมัน ตกแต่งง่าย แก่นสีน้ำตาลเข้ม ไม้ที่ตายเองตามธรรมชาติหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าตายพราย จะมีกลิ่นหอม แม้แต่ขี้เลื่อยก็ยังหอม เพราะน้ำมันของต้นไม้จะยังอยู่ข้างใน และจะมีกลิ่นหอมมาก ที่ผ่านมาคนจะนิยมใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป น้ำมันหอม ที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้ ใช้ปรุงเครื่องหอม และเครื่องสำอาง รวมถึงเป็นยาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลี

 

“จันทร์หอม”มหัศจรรย์1ใน4ไม้มงคลชั้นสูงงานพระราชพิธี

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

         “ที่นิยมเอาไม้จันทร์หอมตายโดยธรรมชาติ มาใช้ในพระราชพิธี เพราะจะมีกลิ่นหอมมาก ไม้จันทน์หอมก็เหมือนกับไม้ทั่วไป พอถึงอายุไข 100 ปีขึ้นไปก็จะตายโดยธรรมชาติ บางต้นเคยมีอายุถึว 200 ปี แต่ในประเทศไทยเท่าที่พบในบ้านเราอายุมากที่สุดร่าว 122 ปีมี 9 ต้น แต่โดยเฉพาะบ้านเราจะมีอายุราว 118 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 134 เซนติเมตร” ผศ.ดร.บุญวงศ์ กล่าว

         สำหรับหลักการสังเกตุของต้นไม้จันทร์ตายธรรมชาตินั้น เจ้าหน้าที่ ป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี บอกว่า มีลักษณะยืนต้นตายไม่มีรอยฟัน หรือรอยตัดที่ทำให้ตาย ใบจะรวงหมด แต่กิ่งก้านยังอยู่ครบ สีของต้นจะออกเทาๆ สีอ่อนลงจากเดิม ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ถือว่าเป็นแหล่งของไม้จันทร์หอมหนาแน่นที่ที่สุด หากมีไม้จันทน์หอมอายุมากกว่า 100 ปีอยู่เป็นจำนวนมากตายลง แต่ก็ยังมีต้นใหม่ที่งอกขึ้นมามากเช่นกัน