กทม.เร่งสร้างอุโมงค์บางซื่อ แก้น้ำท่วม 6 เขตกรุงชั้นใน
กทม.เร่งสร้างอุโมงค์ "บางซื่อ" คืบหน้าแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ คาดเปิดใช้งานต้นพ.ค.นี้ ตั้งเป้าแก้น้ำท่วม 6 เขตกรุงชั้นใน
17 ม.ค. 60 - นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานที่ก่อสร้างบริเวณถนนกําแพงเพชร (บ่อ 3) เขตจตุจักร ว่า ขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยยังเหลือระยะทางเจาะอุโมงค์ไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 100 เมตร รวมถึงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ แต่คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จทั้งหมดตามแผนที่วางไว้ ก่อนช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงแน่นอน โดยอาจจะเปิดใช้งานช่วงปลายเดือนเม.ย. หรือต้นเดือนพ.ค.นี้ ส่วนการเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักการระบายน้ำ ประเมินไว้ว่าหากปริมาณฝนตกลงมาในระดับ 60 มิลลิเมตร ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากมีฝนระดับ 100 มิลลิเมตร คงต้องใช้เวลาระบาย เพราะเกินกว่าขีดความสามารถที่มีอยู่ แต่นโยบายของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ให้ไว้แล้วว่า ต้องแก้ไขให้เร็วที่สุดทันที
"สำหรับพื้นที่ที่ยังเป็นห่วงนั้น ก็จะเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วม อาทิ ถนนรัชดา แจ้งวัฒนะ ชินเขต แบริ่ง ลาซาล ซึ่งพื้นที่เหล่านี่เป็นจุดต่ำ แต่ทางสำนักการระบายน้ำจะร่วมประชุมกับหน่วยงานภายนอก เพื่อหามาตรการป้องกันน้ำท่วมร่วมกันต่อไป" นายสมพงษ์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยานั้น จะเริ่มจากถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อ ไปออกแม่น้ำพระยาบริเวณเกียกกาย สร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนัก ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 56 ตารางกิโลเมตร รวมพื้นที่ 6 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และห้วยขวาง อีกทั้งจะช่วยแก้ไขปัญหาพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมทั้ง 6 จุด 1.ถนนพหลโยธิน ช่วงจากสี่แยกสะพานควายถึงห้าแยกลาดพร้าว 2.ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงจากสี่แยกสุทธิสารถึงห้าแยกลาดพร้าว 3.ถนนรัชดาภิเษก ช่วงจากสี่แยกรัชโยธินถึงคลองบางซื่อ 4.ถนนลาดพร้าว ช่วงจากสี่แยกรัชดาลาดพร้าวถึงคลองบางซื่อ 5.ถนนกําแพงเพชร ช่วงจากใต้ทางด่วนศรีรัชถึงตลาดนัดสวนจตุจักร และ 6.ถนนสามเสน ช่วงจากคลองบางกระบือถึงสี่แยก เกียกกาย
รายงานข่าวระบุด้วยว่า นอกจากนี้อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ มีสถานีสูบน้ำตั้งอยู่ตอนปลายของอุโมงค์แนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณเกียกกาย โดยมีกําลังสูบรวมขนาด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีอาคารรับน้ำจํานวน 3 แห่ง อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.0 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 6,400 เมตร พร้อมกับมีอาคารสํานักงานจํานวน 1 แห่ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 2,442 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีค่าว่าจ้างที่ปรึกษาจํานวน 41 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งโครงการ 2,483 ล้านบาท ซึ่งสํานักการระบายน้ำได้ว่าจ้างบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ดําเนินการ ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำฯ และได้ว่าจ้างบริษัท ไทยเอนยิเนียริ่งคอนซัลแตนทส์ จํากัด ร่วมกับบริษัท คอนซัลติ้ง เอนยิเนีย จํากัด เป็นที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงาน.