ข่าว

 เปิดโปงร้านขาย“ยาสัตว์เถื่อน“โคลิสติน ถูกกว่า 5 เท่า

เปิดโปงร้านขาย“ยาสัตว์เถื่อน“โคลิสติน ถูกกว่า 5 เท่า

26 ม.ค. 2560

ร้านยาลักลอบขายโคลิสตินเถื่อน สัตวแพทย์ตะลึงเจอสารตั้งต้นหัวเชื้อโคลิสตินชนิดเข้มข้นในบ้านเกษตรกร ชี้ลักลอบนำเข้าผ่านชายแดน  เตือนคนเลี้ยงหมูเสี่ยงสูงติดเชื้อ

 
            26 ม.ค.ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” สำรวจพบฟาร์มหมูหลายจังหวัดใช้ “ยาโคลิสติน” ผสมในอาหารหมูกินเป็นประจำ เพื่อป้องกันหมูป่วย ทั้งที่ยาปฏิชีวนะชนิดนี้ควรใช้เฉพาะรักษาหมูที่มีอาการป่วยในระบบทางเดินอาหารไม่เกิน 3-5 วันเท่านั้น ซึ่งการใช้ยาโคลิสตินจำนวนมากเป็นประจำอย่างผิดวิธี อาจเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ “เอ็มซีอาร์-1” รวมถึงมีพิษข้างเคียงต่อผู้บริโภคตามที่แพทย์ทั่วโลกกำลังวิตกกังวลนั้น

            ล่าสุด ทีมข่าวได้รับเบาะแสร้านขายยาและอาหารสำหรับสัตว์ขนาดใหญ่ ในหลายจังหวัดที่มีฟาร์มหมูจำนวนมาก  มีกลุ่มลักลอบขายยาโคลิสตินเถื่อนหรือยาที่ไม่มีทะเบียน โดยยาเหล่านี้เกษตรกรจะหาซื้อได้ 2 วิธี คือ 1.ซื้อจากเซลส์ขายยาที่มาแนะนำยาโคลิสตินยี่ห้อต่างๆ กับเจ้าของฟาร์มหมูโดยตรง และ  2.ซื้อตามร้านขายยาสัตว์หรืออาหารสัตว์ทั่วไป 

 

เปิดโปงร้านขาย“ยาสัตว์เถื่อน“โคลิสติน ถูกกว่า 5 เท่า

อ่านต่อ...“ฟาร์มหมู” ภัยเสี่ยง “ยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่” 

 


           จากการสุ่มสำรวจร้านขายยาสัตว์พื้นที่ภาคกลางเบื้องต้นนั้น พบร้านค้าส่วนใหญ่แบ่งเป็นโซนขายอาหารสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์และยาสัตว์  โดยมีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน หรือใบอนุญาตขายยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ เมื่อผู้สื่อข่าวเข้าไปสอบถามร้านขายยาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่ อ.เมือง จ.นครปฐม เกี่ยวกับยาโคลิสติน ปรากฏว่าเจ้าของร้านแนะนำสินค้าที่เป็นยาฉีดและยาลักษณะเป็นผงสำหรับใช้ผสมในอาหารสัตว์ โดยมีขนาด ราคาและยี่ห้อแตกต่างกัน  หากเป็นยาโคลิสตินประเภทฉีดและเป็น “ยานอก” หรือนำเข้าจากต่างประเทศ ขนาดขวดบรรจุ 100 มล.จำหน่ายราคาขวดละ 540 บาท ส่วนยาโคลิสตินผลิตในประเทศไทยวางขายราคา 250 บาท 

 

เปิดโปงร้านขาย“ยาสัตว์เถื่อน“โคลิสติน ถูกกว่า 5 เท่า

 

            ขณะที่ผู้สื่อข่าวกำลังซักถามรายละเอียดการใช้นั้น เจ้าของร้านแนะนำว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงฟาร์มหมูส่วนใหญ่จะมาซื้อโคลิสตินเป็นขวด  ไปฉีดรักษาหมูป่วยมีอาการท้องร่วง  แนะนำให้ฉีดยาโคลิสตินผสมยาอะม็อกซีซิลลินเพื่อรักษา  แต่ถ้าหมูไม่ได้มีอาการป่วย ให้ซื้อโคลิสตินชนิดผงเพื่อนำไปผสมในอาหารให้หมูกินทุกวันหรือเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้หมูมีอาการท้องเสีย 

           “ถ้าเกษตรกรไม่มีต้นทุนเพียงพอสำหรับซื้อยานำเข้าจากต่างประเทศหรือยาที่ผลิตในไทย ก็สามารถซื้อยาไม่มีทะเบียนได้ ซึ่งราคาต่ำกว่ามากและมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาที่มีทะเบียน โดยขายในราคาเพียง 120 บาทต่อขวดเท่านั้น"   เจ้าของร้านคนเดิมให้คำแนะนำ  พร้อมบอกชื่อยี่ห้อ ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกับขวดยาโคลิสตินที่ทีมข่าวสำรวจพบจากฟาร์มแห่งหนึ่งในนครปฐม เมื่อเปรียบเทียบราคาจะถูกกว่ายาฉีดโคลิสตินจากต่างประเทศเกือบ 5 เท่าด้วยกัน และถูกกว่ายาที่ผลิตในไทย 1 เท่า

            จากนั้นผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยัง จ.สุพรรณบุรี เพื่อสุ่มหาร้านขายยาสัตว์ที่วางขายโคลิสติน ปรากฏว่ามีหลายร้านมียาโคลิสตินวางจำหน่ายทั้งยาฉีดและยาผงสำหรับผสมในอาหาร ราคาใกล้เคียงกัน แต่ไม่ยอมกล่าวถึงยาไม่มีทะเบียน  มีร้านค้าแห่งหนึ่งแนะนำให้ลองซื้อยาผงโคลิสตินถุงเล็กบรรจุขนาด 1 กิโลกรัม ขายในราคาเพียง 120 บาท โดยมีข้อความระบุข้างถุงว่า “ยาอันตราย ยาสำหรับสัตว์”

            ทั้งนี้ ยาโคลิสตินที่เป็นผงสำหรับใช้ผสมในอาหารสัตว์นั้น ร้านขายยาสัตว์ทั่วไปจะวางโชว์ถุงขายหน้าร้าน 2 ยี่ห้อด้วยกัน เป็นถุงขนาด 10 กิโลกรัม จำหน่ายในราคา 3,500–4,600 บาท มีรายละเอียดระบุข้างถุงว่า “ ส่วนประกอบ : ใน 1 กิโลกรัม ประกอบด้วยโคลิสติน ซัลเฟต เทียบเท่ากับโคลิสติน 400 กรัม”

เปิดโปงร้านขาย“ยาสัตว์เถื่อน“โคลิสติน ถูกกว่า 5 เท่า

     

           เจ้าของร้านขายยาสัตว์แห่งหนึ่งยอมรับว่า เกษตรกรที่เป็นเจ้าของฟาร์มหมูขนาดเล็กไม่มีเครื่องผสมอาหารของตนเอง จะนิยมซื้ออาหารที่มียาผสมอยู่แล้วเป็นถุงสำเร็จรูป  โดยเฉพาะสำหรับลูกหมูแรกเกิดจนถึงน้ำหนัก 15 ก.ก. เนื่องจากเป็นช่วงที่หมูยังอ่อนแอติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะโรคท้องเสีย แม้ว่าบางยี่ห้อจะมีฉลากระบุไว้แค่ว่ามีอาหารหมูมีส่วนผสมของวิตามิน แต่ผู้ซื้อสังเกตได้ง่าย เพราะถุงอาหารที่มียาอย่างอื่นผสมอยู่ส่วนใหญ่มีคำเตือนตัวอักษรสีแดงระบุว่า “งดใช้อาหารสัตว์ชนิดนี้ก่อนฆ่าสัตว์เพื่อใช้บริโภค”

            นอกจากร้านขายยาสัตว์แล้ว ทีมข่าวได้ออกสำรวจร้านขายยาสำหรับคนทั่วไปด้วย แต่ยังไม่พบว่ามีวางขายยาโคลิสตินแต่อย่างใด แตกต่างจากร้านขายอาหารและยาสำหรับสัตว์ที่มีวางขายเหมือนสินค้าปกติทั่วไป

            สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านยาสัตว์ กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กรมปศุสัตว์ อธิบายถึง “ยาโคลิสติน” ว่า เป็นกลุ่มตัวยาสุดท้ายที่แพทย์จะใช้เมื่อเกิดอาการป่วยแล้วไม่สามารถใช้ยากลุ่มอื่นได้ผลจากการป่วยด้วยอาการท้องเสียหรือในการติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร  ตอนนี้ สหภาพยุโรปพยายามลดการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมเชื้อดื้อยาโคลิสติน  ส่วนอเมริกาไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนใช้โคลิสตินเป็นยาหรือผสมในอาหารสัตว์อย่างเด็ดขาด

 

เปิดโปงร้านขาย“ยาสัตว์เถื่อน“โคลิสติน ถูกกว่า 5 เท่า

 

           สำหรับประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ทั้งยาคนและยาสัตว์และวางขายในร้านที่ได้รับอนุญาต ทั้งยาโคลิสตินเป็นขวดสำหรับใช้ฉีด รวมถึงยาผงผสมในน้ำหรือผสมในอาหาร เกษตรกรสามารถหาซื้อได้ทั่วไป

           “หมูทั่วประเทศไทยมีประมาณ 17 ล้านตัว  มีประมาณ 5 ล้านตัว เป็นของบริษัทใหญ่ที่เลี้ยงแบบฟาร์มปิด ช่วงนี้ กำลังประชุมพิจารณากันว่า จะให้โคลิสตินเป็นยาอันตรายห้ามวางขายทั่วไปทั้งประเภทยาฉีดและยาผงผสมอาหาร ถ้าใครอยากซื้อต้องมีใบสั่งจากสัตวแพทย์เท่านั้น"

           "ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบว่า มีการใช้โคลิสตินจำนวนมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่ใช้ในฟาร์มเลี้ยงสุกร ไม่ค่อยพบในฟาร์มไก่หรือการเลี้ยงปลา เพราะหมูเป็นสัตว์ที่มีช่วงระยะการเลี้ยงยาวนานกว่าปศุสัตว์อื่น ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ ยาโคลิสตินที่เป็นยาเถื่อนหรือยาปลอม เพราะเคยจับได้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว แถวภาคกลาง พบสารตั้งต้นโคลิสตินชนิดเข้มข้น ซึ่งไม่ควรพบในบ้านของเกษตรกรเลี้ยงหมู สารตั้งต้นที่เป็นวัตถุดิบผลิตยาแบบนี้ตามขั้นตอนควรส่งไปที่โรงงานที่ผลิตยาผสมในอาหารหรือในน้ำสำหรับสัตว์ เพราะต้องทำตามสูตรและส่วนผสมที่ถูกต้อง การพบครั้งนี้ทำให้รู้ว่ามีการลักลอบซื้อขายหัวเชื้อโคลิสตินเถื่อน” 

 

เปิดโปงร้านขาย“ยาสัตว์เถื่อน“โคลิสติน ถูกกว่า 5 เท่า

อ่านต่อ... หมอเตือนสาร"โคลิสติน"ในหมู คนกินอาจไตวาย

 

            สัตวแพทย์คนเดิมกล่าวอีกว่า การตรวจพบหัวเชื้อโคลิสตินเถื่อนในฟาร์มเลี้ยงหมูทำให้เกิดความสงสัยว่า หัวเชื้อยาอันตรายถูกลักลอบเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร  จากการสืบสวนเบื้องต้นพบการลักลอบวัตถุดิบเคมีภัณฑ์ผลิตยาปลอมหรือยาเถื่อนที่ไม่มีทะเบียนเข้ามาในไทยนั้น ทำได้ 2 วิธี ได้แก่ 1.การลักลอบนำเข้ามาโดยตรงจากชายแดน  2.ใช้วิธีการนำเข้าผ่านชายแดนไทยอย่างถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้ส่งไปที่โรงงานผลิตยาหรืออาหารสัตว์ตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น แต่นำมาลักลอบขายให้เกษตรกรโดยตรงแทน

            อันตรายของโคลิสตินนั้น ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นอธิบายว่า หากมีการใช้ในฟาร์มหมูเป็นเวลานาน ตัวเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมจะเกิดอาการดื้อยาโคลิสติน เมื่อคนเลี้ยงหมูไปสัมผัสอาจติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเข้าร่างกายด้วย หากคนเลี้ยงหมูรายนี้เกิดอาการป่วยด้วยโรคบางชนิดที่จำเป็นต้องใช้ยาต้านปฏิชีวนะโคลิสตินก็จะใช้รักษาไม่ได้ผล เพราะร่างกายรับเชื้อดื้อยาโคลิสตินเข้ามาในร่างกายแล้ว กลายเป็นคนไข้ดื้อยาโคลิสตินทั้งที่ไม่เคยรักษาด้วยยาชนิดนี้มาก่อน

            “ส่วนกรณีที่เป็นห่วงว่าเนื้อหมูหรืออวัยวะหมูที่ชำแหละขายในตลาด จะมีเชื้อดื้อยาโคลิสตินปนเปื้อนอยู่แล้วส่งผลถึงผู้บริโภค ยังไม่สามารถตอบได้ในตอนนี้ แต่มั่นใจว่า เกษตรกรหรือคนเลี้ยงหมูที่ต้องสัมผัสยาโคลิสตินอย่างต่อเนื่อง เช่น เวลาผสมในอาหารหรือน้ำ หรือตอนที่ฉีดให้สัตว์ จะมีบางส่วนตกค้างบริเวณฟาร์มหมู มีโอกาสสูงที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาโคลิสติน ตอนนี้กรมปศุสัตว์อยากควบคุมยาโคลิสติน เพื่อความปลอดภัยในผู้เลี้ยง ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพราะกังวลมากว่า จะทำให้ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ฟาร์มหมูควรช่วยกันควบคุมและเรียนรู้ว่าจะใช้ยาปริมาณที่เหมาะสมมากน้อยเพียงไร วิธีการใช้ยาที่ถูกต้องและปริมาณที่เหมาะสม” ผู้เชี่ยวชาญจากกรมปศุสัตว์กล่าว

            สำหรับยาโคลิสตินมีระบุวิธีใช้ว่า “เพื่อรักษาโรคปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ โรคลำไส้อักเสบอย่างเฉียบพลัน เรื้อรัง ที่เกิดจากเชื้อซัลโมเนลล่า และโรคท้องเสียจากเชื้อ อี.โคไล ใช้กินติดต่อกันไม่เกิน 3-5 วัน”

            ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ยาโคลิสตินสำหรับสัตว์มีขึ้นทะเบียนทั้งหมด 146 ตำรับ หรือยี่ห้อ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ยาสำหรับฉีด 11 ตำรับ และยาที่ใช้ผสมเป็นอาหาร 135 ตำรับ

 

เปิดโปงร้านขาย“ยาสัตว์เถื่อน“โคลิสติน ถูกกว่า 5 เท่า

อ่านต่อ..สยองสูตรอาหารฟาร์มหมูให้กิน“โคลิสติน”ตัวแพร่ยีนดื้อยา

​​​​​​​

            ส่วนปัญหาเรื่องการลักลอบซื้อขายและใช้ยาโคลิสตินไม่ขึ้นทะเบียนหรือไม่ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยานั้น “จะเป็นผลร้ายกับเกษตรกรที่ชอบใช้ยาเถื่อน เพราะ 1.ยาโคลิสตินเถื่อนที่ซื้อมา ไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีส่วนผสมอะไร มีสารอะไรในนั้น เป็นตัวยาโคลิสตินจริงหรือไม่ อาจเสียเงินฟรีโดยไม่ได้โคลิสติน และ 2.ต่อให้เป็นโคลิสตินจริง แต่ตัวยามีคุณภาพหรือไม่ และมีสัดส่วนตามที่ระบุในฉลากจริงหรือเปล่า เช่นระบุไว้ว่ามีโคลิสตินผสมจำนวนเท่านี้ใน 1 ซีซี แต่ปริมาณอาจไม่ถึงจริงก็ได้ พอเอาไปฉีดให้หมูป่วยก็ไม่หาย กลายเป็นใช้ผิดวิธี ทำให้หมูดื้อยาโคลิสตินง่ายขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นควรใช้เฉพาะยาที่มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น” ภก.ประพนธ์ กล่าวเตือน

            ทั้งนี้ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้า กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่รับผิดชอบการควบคุมการใช้ยาและคุณภาพอาหารในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการควบคุมรับผิดชอบกำกับดูแลส่วนยาสัตว์และวัตถุอันตราย โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาต่อไปนี้ (1)ยาปลอม (2)ยาผิดมาตรฐาน (3)ยาเสื่อมคุณภาพ (4)ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตารับยา (5)ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก
            สำหรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2530 กำหนดโทษความผิดฐาน ผลิต ขาย หรือนําเข้ายาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท