"ชาญชัย”ชี้ตรวจโกงรัฐวิสาหกิจดูรายงานประชุมย้อนหลัง
"ชาญชัย”ชี้ช่องตรวจโกงให้ดูรายงานประชุมย้อนหลัง ส่องชื่อคนกินสินบนรัฐวิสาหกิจ จี้ “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 ล้างบางคนโกง
30 ม. ค. นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสินบนข้ามชาติที่เกิดขึ้นในหลายรัฐวิสาหกิจว่า อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจรัฐฎาธิปัตย์เหนือรัฐบาลอื่น ควรทำการปราบปรามการทุจริตให้เป็นรูปธรรม โดยเพราะโครงการการขนาดใหญ่ที่มีการทุจริตที่มักจะทิ้งร่องรอยไว้ทั้งสิ้น การจะเอาคนผิดมาลงโทษไม่ใช่เรื่องยากแม้ว่าจะไม่มีการระบุชื่อก็ตาม โดยไม่จำเป็นต้องรอข้อมูลจากต่างประเทศ เพราะสามารถดูได้จากรายงานการประชุมก็จะพบหลักฐานว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง พร้อมกับยกตัวอย่างการทุจริตที่เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจสามกรณี คือ โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งสร้างใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่มีการจัดซื้อเครื่องบินล็อตใหญ่ที่สุดโดยก่อสร้างในช่วงปลายปี พ.ศ. 2547 มูลค่ากว่าสองหมื่นล้านบาท โดยมีการทุจริตเฉพาะค่าธรรมเนียมอย่างเดียวสูงกว่าหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งจะมีรายละเอียดเส้นทางการสั่งงานการทุจริตที่เห็นชัดเจนเนื่องจากเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี สามารถไล่เรื่องย้อนกลับไปได้ ตั้งเรื่องโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ตนจะส่งใบเสร็จหลักฐานการทุจริตดังกล่าวให้นายกฯตรวจสอบและดำเนินการ เรื่องนี้มีใบเสร็จอยากให้นายกฯจัดการเพราะเป็นเรื่องใหญ่ และเตือนไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าหากไม่ดำเนินการเรื่องนี้ จะมีปัญหากับท่านมาก และถ้าทำไม่เป็นตนจะไปดูให้ไม่เกิน 15 วันจะเห็นว่าใครสั่งการ ใครเป็นคนดำเนินเรื่อง
นอกจากนี้ยังมีการทุจริตที่เกิดขึ้นจากกรณีเลื่อนการชำระเงินและลดค่าตอบแทนรายปีในสัญญาระหว่างการท่าฯกับบริษัทเอกชนทำให้รัฐเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัทคิงพาวเวอร์มีกำไรมากขึ้น โดยผู้เสนอคือนายประสงค์ พูนธเนศ ซึ่งในขณะนั้นเป็นกรรมการในบอร์ดของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และมีกรณีที่ ทอท. อนุมัติกรณีบริษัทคิงพาวเวอร์ทำเรื่อง ขอให้ทอท. สนับสนุนกลุ่มเยาวชนเลสเตอร์ซิตี้ 16 คน ฝึก 2 ปีที่อังกฤษวงเงิน 30 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 57 ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย มีคำถามว่าทำไมหน่วยงานรัฐต้องเอาเงินภาษีไปสนับสนุนบริษัทเอกชน และยังแถมอีก 10 ล้านค่าประชาสัมพันธ์ด้วย เรื่องนี้เกิดในสมัยของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของรัฐวิสาหกิจที่ใช้จ่ายเหมือนเงินส่วนตัวทั้งที่เป็นทรัพย์สินของประชาชน จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ล้างบางคนเหล่านี้
ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการรับสินบนของรัฐวิสาหกิจอันนำไปสู่การระบุว่าจะมีการปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่ที่น่าเสียดายคือการกระทำของรัฐบาลตรงกันข้ามกับเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง เพราะในร่างกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้ระบุว่ายกเว้นไม่ให้ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจ โดยให้ไปออกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างเอง ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้เพราะการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้