ข่าว

ผู้ตรวจฯ แจง กรธ.ขอเพิ่มอำนาจตั้งกก.ชี้มูลความผิด พรุ่งนี้

ผู้ตรวจฯ แจง กรธ.ขอเพิ่มอำนาจตั้งกก.ชี้มูลความผิด พรุ่งนี้

05 ก.พ. 2560

ผู้ตรวจฯ พร้อมยกทีมแจงอนุ กรธ.ร่าง รธน. ขอเพิ่มอำนาจมีสิทธิ์ตั้งกรรมการร่วมชี้มูลความผิด -เพิ่มหน้าที่ส่งเสริมจริยธรรมด้วย 

 

           5ก.พ.60 --  พล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ รักษาการประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการไปชี้แจงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ... ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ว่าในวันจันทร์ที่ 6 ก.พ.นี้ ตนพร้อมด้วยนายบูรณ์ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดินและนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน จะไปชี้แจงเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินต่อคณะอนุกรรมการฯ เท่าที่ได้พูดคุยกันและสอบถามความคิดเห็นของอดีตผู้ตรวจฯเบื้องต้นเนื้อหาที่จะไปชี้แจง ประกอบด้วย ประเด็นแรก คือ เรื่องของจริยธรรมที่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการส่งเสริมจริยธรรม สิ่งที่เราได้ปรึกษาหารือพูดคุยกันเห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ตรวจฯ ได้สร้างเครือข่ายด้านจริยธรรมไปไกลพอสมควร หากทิ้งไปเลยก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และสิ่งที่ทำมาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะฉะนั้นเราก็จะไปขอให้ทางกรธ.ช่วยกำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เพราะว่าในรัฐธรรมนูญไม่พูดถึงเรื่องการส่งเสริมจริยธรรมไว้ หากว่าเปิดโอกาสให้ผู้ตรวจฯได้ดำเนินการต่อไป เราก็พร้อมที่จะดำเนินการ และเราอาจไม่ได้ตีกรอบเฉพาะเรื่องคุณธรรมอาจจะไปถึงเรื่องธรรมาภิบาล การส่งเสริมเรื่องธรรมาภิบาลก็จะครอบคลุมไปถึงเรื่องความโปร่งใส ความคุ้มค่า การมีจิตสำนึกสาธารณะและการมีคุณธรรมและจริยธรรมด้วย 

                                   

            พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่สอง รัฐธรรมนูญกำหนดว่าถ้าหากว่ามีข้อเสนอแนะกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการไม่ถูกต้อง ใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ สุดทางที่ให้เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและพิจารณาสั่งการ สิ่งนี้เราได้พิจารณาดูว่า ระหว่างลงพื้นที่พบว่าความคาดหวังของประชาชนคือรัฐธรรมนูญใหม่ไม่อยากให้ผู้ตรวจฯเป็นเสือกระดาษ เราก็มาคิดว่าเมื่อข้อเสนอของผู้ตรวจฯไปถึงคณะรัฐมนตรี แล้วไม่เป็นเสือกระดาษจะทำอย่างไร เช่น เมื่อเรื่องไปถึงครม.แล้วปรากฎว่าความคิดเห็นของผู้ตรวจฯกับครม.ไม่ตรงกัน เราได้เสนอไปว่าควรตั้งคณะกรรมการสองฝ่ายเพื่อดูว่าข้อมูลของผู้ตรวจฯที่วินิจฉัยไปครบถ้วนหรือไม่ ครม.อาจมีข้อมูลใหม่มาปรึกษาหารือระหว่างคณะกรรมการร่วม ที่สุดแล้วจะได้มีข้อยุติและไปหาแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนได้ 

                                               

           “ผมยังยึดถือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ว่ากฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในการรักษาและอำนวยความยุติธรรม ผมคิดว่าหลักนี้สำคัญที่จะช่วยให้สังคมสงบสุข เจริญรุ่งเรืองได้ ถ้าหากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐแม้ถูกกฎหมาย แต่ไปสร้างปัญหาสร้างความเดือดร้อน ต้องมีทางออกเพื่อให้สังคมสงบสุข ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะไปเสนอต่อคณะอนุกรรมการของกรธ.”พล.อ.วิทวัส กล่าว