"เลี้ยงกบ"อาชีพทำเงินไม่ธรรมดา!
โดย - โต๊ะข่าวเกษตร
“กบ”เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน ทั้งเลี้ยงเพื่อไว้กินเองในครอบครัว เหลือก็จำหน่ายจ่ายแจกให้เพื่อนบ้าน เป็นรายได้เสริมเล็กๆน้อยๆ หรือเลี้ยงแบบเชิงพาณิชย์ก็ว่ากันไป ที่แน่ๆเพราะมันเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้เวลาน้อย พื้นที่น้อย ลงทุนน้อย ดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก และขายได้ราคาคุ้มการลงทุน
อย่างยิ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการสินค้า"กบ"ของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนเปิดกว้างมากขึ้น การเลี้ยงกบจึงเป็นที่สนใจของเกษตรกรทั้งมือเก่า มือใหม่ ทุนน้อย ทุนหนัก ซึ่ง"กบนา"เป็นพันธุ์ที่ได้รับความสนใจแบบสุดๆ เพราะมีเนื้อนุ่ม รสชาติอร่อย สะอาด ราคาดี ทีนี้มาดูรูปแบบการเลี้ยงปัจจุบัน ที่นิยมเลี้ยงใน 4 ลักษณะ
1.เลี้ยงในบ่อดิน ใช้พื้นที่ 100-200 ตรม. บ่อลึก 1 ม.บางแห่งอาจทำเกาะกลางบ่อ เพื่อเป็นที่พักของกบ ให้อาหาร ส่วนพื้นที่รอบๆ ขอบบ่อภายในล้อมด้วยอวนในล่อนสูง 1 ม. ปล่อยให้หญ้าขึ้นเพื่อให้กบใช้เป็นที่หลบอาศัย ด้านล่างใช้กระเบื้อง หรือสังกะสีฝังลึกลงดิน 50 ชม. เพื่อป้องกันศัตรู เช่น หนูขุดรูเข้าไปกินลูกกบ ให้ปล่อยลูกกบลงเลี้ยงราว 3 หมื่นตัว/บ่อ (100 ตรม.)
การเลี้ยงแบบนี้ข้อดีคือ จัดการง่าย ต้นทุนต่ำ ผลผลิตต่อพื้นที่สูง แต่มีข้อจำกัด คือเลี้ยงแบบหนาแน่น สภาพในบ่อไม่ค่อยสะอาด เพราะมีของเสียตกค้าง ผลผลิตของกบที่ได้จะนำจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่
2.เลี้ยงในคอก สามารถจับกบได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะจับหมดทั้งคอกหรือจำหน่ายปลีก โดยมีกระบะไม้และทำเป็นช่องเข้าออกด้านตรงกันข้ามวางอยู่หลายอันบนพื้นดินภายในคอก ซึ่งกบจะเข้าไปอาศัยอยู่ เมื่อถึงเวลาจับก็ใช้กระสอบเปิดปากไว้ที่ช่องด้านหนึ่งแล้วใช้มือล้วงเข้าไปในช่องด้านตรงข้าม กบจะหนีออกอีกช่องทางที่มีปากกระสอบรอรับอยู่ วิธีนี้สะดวก กบไม่ตกใจและไม่บอบช้ำ ทว่า เหมาะจะเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้เสริม เพราะค่อนข้างยุ่งยากในการดูแล
3.เลี้ยงในกระชัง กระชังที่ใช้เลี้ยงเกษตรกรนิยมใช้อวนในล่อนเพราะต้นทุนถูก ขนาดที่นิยมกว้าง 5 ม. ยาว 4 ม. สูง 1.5 ม. จะแขวนอยู่ในบ่อดิน ขนาด 1-3 ไร่ หรือ แหล่งน้ำต่างๆโดยจะแขวนกระชังจมอยู่ในน้ำ 50 ซม.จากนั้นใส่แผ่นโฟมให้กบขึ้นมาอาศัยและวางถาดอาหาร หากมีนกมากินลูกกบ ต้องทำฝาปิดกระชัง อัตราปล่อยลูกกบที่ 50-100 ตัว/ตรม.
การเลี้ยงแบบนี้มีข้อดี คือ ได้ผลผลิตกบที่มีคุณภาพ ส่งออกได้ แต่ก็มีข้อจำกัด คือต้นทุนการจัดการจะสูงเนื่องจาก ต้องใช้แรงงานในการดูแลมากกว่าการเลี้ยงกบในบ่อดิน
4.เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ เกษตรกรนิยมเลี้ยงกันมากแบบนี้ เพราะดูแลรักษาง่าย ควบคุมคุณภาพของกบได้ โดยมีการพัฒนารูปแบบให้ทำความสะอาดได้สะดวกมากขึ้น เช่น ปูพื้นบ่อด้วยกระเบื้องผิวเรียบ ทำให้มีการสะสมของเชื้อโรคที่พื้นบ่อน้อยลง
ส่วนขนาดบ่อที่เกษตรกรนิยม กว้าง 3-4 ม.ยาว 4-5 ม. สูง 1.2 ม.ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือบ่อพื้นลาดเอียง 25 องศา เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี และบ่อแบบมีเกาะกลาง โดยตัวเกาะห่างจากผนัง 50-70 ซม. และควรขัดผิวให้มันเพื่อให้กบขึ้นมาพักผึ่งแดด และเป็นที่วางถาดอาหาร
ทั้งนี้ การเลี้ยงใน 4 ลักษณะดังกล่าว ความสะอาดของบ่อ และน้ำที่ใช้เลี้ยง ถือว่าสำคัญมาก เพราะมีผลต่อสุขภาพและการเติบโตของกบ โดยต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆวัน เช้า-เย็น ยิ่งวันไหนมีฝนตกต้องรีบเปลี่ยนถ่ายน้ำทันที เนื่องจากน้ำในบ่อจะมีฤทธิ์เป็นกรดซึ่งจะทำให้กบเป็นแผลตามลำตัวได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ในการเลี้ยงกบจำเป็นต้องคอยคัดขนาดของกบให้มีขนาดเท่ากันลงเลี้ยงในบ่อเดียวกัน มิฉะนั้น กบใหญ่จะรังแกกบเล็ก ซึ่งจะทำให้ต้องตายทั้งคู่ ทั้งตัวที่ถูกกินและตัวที่กิน อีกทั้ง การเพิ่มประสิทธิภาพของอาหาร หรือเลือกใช้วัสดุอาหารที่ใช้เลี้ยงกบแล้วกบโตเร็ว มีต้นทุนต่ำ โดยมีผลการศึกษาวิจัยของนักวิชาการประมง หลายแนวทาง ดังนี้
1.การใช้น้ำมันปลาเสริมในอาหารเม็ดสำเร็จรูป
2. การใช้โปรตีนข้าวโพดทดแทนปลาป่นในการเลี้ยง
3.การเพิ่มคุณค่าทางอาหาร ที่เกิดจากส่วนประกอบ ปลาป่น35% กากถั่วเหลืองป่น9.5%ปลายข้าว25% รำละเอียด6% สารเหนียว6% น้ำมันถั่วเหลือง1% น้ำมันปลาทะเล2% น้ำมันปาล์ม2.5% ยีสต์4% วิตามินและแร่ธาตุรวม2 % วิตามินซี0.1% แกลบบดละเอียด6.9 %
เมื่อเกษตรกรมีความรู้ด้านการเลี้ยงแล้ว ยังต้องมีความรู้ด้านการจัดการฟาร์มด้วย เพราะหากมีการจัดการฟาร์มที่ดี การเลี้ยงก็จะประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะการเลี้ยงกบจะใช้เวลาเลี้ยง 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่สั้น การจัดการจะต้องรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม สนใจเรื่องราวการเลี้ยงกบ ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม เข้าไปได้ใน www.fisheries.go.th
แหล่งที่มา : กรมประมง