"ศาสตร์พระราชา" คือ "ศาสตร์แห่งแผ่นดิน"
"วิษณุ" ปาฐกถา ยกย่องศาสตร์พระราชา คือ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน เทิดทูล "ร.9" เป็นนักคิด-นักพัฒนา
18 ก.พ. 60 - สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า และสถาบันพระปกเกล้า ร่วมจัดงานโครงการสัมมนา เรื่อง "ศาสตร์พระราชา ศาสตร์ของแผ่นดิน" เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยในงานดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ศาสตร์พระราชา ศาสตร์แห่งแผ่นดิน" ตอนหนึ่งว่า
จากประวัติศาสตร์ของประเทศไทย พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์มีพระคุณลักษณะที่โดดเด่นและไม่ซ้ำกันแต่ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ประเทศไทย กล่าวคือ รัชกาลที่ 1 ครองราชย์ 27 ปี มีความโดดเด่นด้านการรบ และทรงเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ ดูจากได้ช่วงสงคราม9 ทัพที่ประเทศไทยสามารถเอาชนะได้ นอกจากนั้นทรงแนะ และวางแผนหากจะหาคำพรรณาเพื่อสดดุดี คือ ศาสตร์พระราชน คือ การทำสงคราม, รัชกาลที่ 2 ทรงอยู่ในราชสมบัติ 15 ปี ทรงเป็นนักกวี เพราะบ้านเมืองไม่มีศึกสงคราม จึงต้องเรียกขวัญและกำลังใจประชาชนกลับคืนมา ซึ่งเหมือนกับยุคปัจจบันที่ประชาชนเครียดกับเศรษฐกิจ การเมือง เมื่อได้ดูละคร หรือภาพยนตร์ อารมณ์จึงมีความชุ่นชื่นใจ ดังนั้นศาสตร์แห่งพระราชาของรัชกาล ที่ 2 คือ ศิลปะ วัฒนธรรม, รัชกาลที่ 3 ทรงอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี ทรงชำนาญเรื่องเศรษฐกิจ การค้า และสร้างวัด ดังนั้นศาสตร์ของพระราชาในรัชกาลดังกล่าว คือ เรื่องเศรษฐกิจและพุทธศาสนา , รัชกาลที่ 4 ทรงอยู่ในราชสมบัติ 17 ปี โดยขึ้นครองราชย์หลังจากที่พระองค์ทรงผนวชแล้ว 27 ปี ซึ่งพระองค์ทรงทราบว่าบ้านเมืองจะเกิดวิกฤต กรณีที่ชาวต่างชาติจะเข้ายึดประเทศเหมือนกับหลายประเทศ พระองค์ทรงแก้ปัญหาโดยพัฒนาวิทยาการที่ทันสมัย การปฏิรูปประเทศ ภาษาอังกฤษ การดูดาว พยากรณ์ เพื่อให้ต่างชาติเห็นว่าประเทศสยามนำต่างประเทศ ไม่ถูกดูถูก เหยียดหยาม และไม่ถูกนำไปเป็นเมืองขึ้น และทำเพื่อรักษาเอกราชของประเทศ
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์ นานถึง 42 ปี พระองค์ทรงปฏิรูปประเทศในเรื่องต่างๆ ซึ่งกลายเป็นศาสตร์ของพระราชา คือการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลง โดยในยุคสมัยพระองค์มีพระราชดำรัสต่อการปฏิรูประบบราชการ หากไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถปฏิรูปเรื่องอื่นๆ เช่น การศึกษา ได้ โดยพระองค์ทรงใช้เวลา 5 ปี เพื่อสร้างความเข้าใจและการปฏิรูปที่ยั่งยืน จากนั้นจึงยุบ เวียง วัง คลัง นา มาเป็นการตั้ง 12 กระทรวง ขณะที่ด้านการศึกษาพระองค์มีสายพระเนตรยาวไกล ทรงวางแผนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ เช่น การส่งบุตรชายให้ไปเรียนที่ต่างประเทศตามสาขาวิชาที่พระองค์ทรงเล็งเห็นตามลักษณะ และความประพฤติของบุตรชาย ซึ่งภายหลังทรงเป็นต้นแบบในศาสตร์วิชาที่สำคัญ เช่น กฎหมาย, เศรษฐกิจ การคลัง เป็นต้น, ขณะที่รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 8 ไม่มีผู้ใดที่มีชีวิตและสามารถพรรณนาถึงศาสตร์พระราชาได้ แต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยพรรณนาไว้ ว่า รัชกาลที่ 6 มีศาสตร์พระราชา คือ ความรักชาติ , รัชกาลที่ 7 ที่ทรงครองราชย์ 9 ปี คือ การแก้ปัญหาคนทำงานที่เกินดุล, รัชกาลที่ 8 คุณลักษณะเด่นคือการสร้างขวัญและกำลังใจของประชาชน
"มีคนถามหม่อมคึกฤทธิ์ ว่ารัชกาลที่ 9 มีคุณลักษณะเด่นอะไร และใครบ้างที่จะเป็นคนโปรด ท่านตอบในทันทีว่าใครที่ช่วยกันพัฒนาประเทศ ให้คนอยู่ดีกินดี ให้คนลืมตาอ้าปากได้ จะเป็นที่โปรดปราน ดังนั้นพระมหากษัตริย์มีศาสตร์ มีศิลปะของการปกครองเพื่อให้คนอยู่เย็นเป็นสุข เพราะท่านรู้ว่าหากไม่ทำให้คนอยู่เย็นเป็นสุขได้ บ้านเมืองจะมีปัญหา และพระองค์จะมีปัญหา ดังนั้นต้องตรากตรำทำงานตามความถนัด ผมบอกว่าประเทศไทยโชคดีที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีความถนัดไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่พระองค์ทรงทำได้อย่างถูกจังหวะอย่างยิ่ง" นายวิษณุ กล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า ตลอดรัชสมัย 70 ปีของรัชกาลที่ 9 ถือว่านาน แต่มีความแปลก เพราะพระองค์ทรงอยู่กับประชาชนนานโดยประชาชนไม่เบื่อ และยิ่งเป็นความน่าเสียดายที่พระองค์ทรงสิ้นไป จึงเป็นประเด็นที่หาคำตอบได้ว่า ระยะ 70 ปี นั้นพระองค์ทรงปกเกล้า ปกกระหม่อม แต่ไม่ได้ปกครอง เพราะการปกครองเป็นเรื่องของรัฐบาล นับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ ในปี 2493 พระองค์เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในต่างจังหวัด โดยพระองค์ทรงเป็นกันเอง ทำให้ประชาชนเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินอยู่กับชาวบ้านได้ อยู่กับคนไทยได้ สิ่งที่รัชกาลที่ 9 ทรงทำปรากฏรูปธรรมที่ชัดเจน คือ ช่วง 50 ปีหลัง กิจที่ทรงทำและคำที่ทรงแนะทุกอย่าง มีคำจำกัดความที่สอดคล้อง คือ ศาสตร์พระราชา ซึ่งตนคิดว่าศาสตร์นั้นได้มาจากพระราชประสบการณ์ เข้าพระทัยในเหตุการณ์บ้านเมือง สถานการณ์ต่างๆ และพระราชกรณียกิจ โดยสาระสำคัญที่เป็นหัวใจของศาสตร์พระราชา คือ ศาสตร์แห่งการพัฒนา, ศาสตร์แห่งการครองตน เพื่อเป็นแบบปฏิบัติ และตัวอย่างที่ดี และศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
"ศาสตร์ของราชา มีสิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำสิ่งที่เป็นปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ คือ กฎหมายเป็นเพียงวิถีทางหนึ่งที่นำไปสู่ความยุติธรรม คือ ยุติธรรมเป็นเป้าหมายปลายทาง ซึ่งกฎหมายเป็นเพียงวิธีการ การไปไปสู่เป้าหมายอาจมีวิธีอื่น ดังนั้นผมจึงมองว่าหากความปรองดองคือเป้าหมาย แต่มีหลายวิธีที่ต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะเพื่อนำไปสู่จุดหมายเดียวกัน ผมขอสรุปไว้ในตอนท้ายนี้ว่าการที่พระองค์ทรงอยู่ในราชสมบัติ 70 ปีเป็นเหตุให้เกิดองค์ความรู้สำคัญ คือ ศาสตร์พระราชา ในศาสตร์พระราชา มีหลักวิชาต่างๆ ทั้ง สังคม วิทยาศาสตร์ ปนอยู่ เพราะไม่ใช่ศาสตร์ที่ใช้สอบ หรือปริญญา แต่เป็นสิ่งที่พัฒนาประเทศ หากเราได้ศึกษาศาสตร์พระราชาเป็นระบบอย่างเป็นขั้นตอนจะทำให้เกิดประโยชน์มหาศาล" นายวิษณุ กล่าว.