“ไอ้โง่” ต้องห้าม !? คุก 5 ปีปรับ 5 แสน
เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแปดริ้วมึนไม่จบ คสช.ห้ามมี (ไอ้โง่) พ้อเป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ใช้จับภายในบ่อเพาะเลี้ยง
8 มี.ค. 60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้รับการส่งต่อข้อความผ่านทางโซเชียล ถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร และข้อข้องใจของผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือประมงต้องห้าม ตามคำสั่ง คสช. ที่ใช้ ม.44 ประกาศบังคับใช้คำสั่ง และการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 36 ห้ามมีไว้ในความครอบครองใช้เครื่องมือประมง 6 ชนิด โดยเฉพาะ “ไอ้โง่” ซึ่งมีลักษณะที่เป็นลอบแบบพับได้ มีงาสลับช่องกันทั้งซ้ายและขวา ที่เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งขาวปนปลานิลกินพืชจำเป็นต้องใช้
โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และใกล้เคียง มักจะใช้เป็นเครื่องมือหลัก ในการดักจับสัตว์น้ำที่ตนเองเลี้ยงเอาไว้ภายในบ่อ โดยเฉพาะกุ้งขาวในบ่อเลี้ยงปลา กลายเป็นเครื่องมือผิดกฎหมาย และมีโทษหนักตามการประกาศใช้ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 24/2558 ข้อ 2 วงเล็บ 4 ที่ห้าม “มิให้มีไว้ในความครอบครองเครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ” โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี และปรับ 1 - 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งที่การใช้งานตามวิถีของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด และไม่เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำสาธารณะแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงเอาไว้ภายในบ่อของตนเอง แต่คำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีการแยกแยะในรายละเอียด หรือกำหนดห้ามใช้เฉพาะในแหล่งน้ำสาธารณะ จึงเป็นการออกคำสั่ง และกำหนดเป็นกฎหมายมาแบบเหมารวม ที่ครอบคลุมไปทั้งหมด สร้างความเดือดร้อนไม่สบายใจต่อเกษตรกรรายย่อยใน จ.ฉะเชิงเทรา และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งปนปลาในลักษณะนี้ทั่วทั้งประเทศ และทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นาๆ อย่างหลากหลาย กว้างขวาง ผ่านทางโลกโซเชียล จนมีบางรายวิจารณ์ไปจนถึงขั้นเป็นการทำลายวิถีชีวิตและอาชีพของเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนมองไปจนถึงการออกกฎหมายฉบับนี้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ผลิตค้าอาหารสัตว์น้ำที่เป็นเจ้าตลาด เนื่องจากวิธีการเลี้ยงของเกษตรกรในลักษณะนี้ ไม่ต้องพึ่งพานายทุน
นายอาทร ช่วยณรงค์ กำนันตำบลบางพระ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา และสมาชิกสภาเกษตร จ.ฉะเชิงเทรา เขตพื้นที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา กล่าวถึงปัญหาเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาได้เคยพูดคุยปรึกษากับทางจังหวัดแล้ว และทางประมงจังหวัด ก็ได้ตอบกลับมาด้วยวาจาปากเปล่าว่า จะอนุโลมให้ โดยจะไม่ทำการจับกุมเกษตรกรที่ใช้เครื่องมือประมงชนิดนี้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนต่ออาชีพทำกิน ตามวิถีชีวิตของเกษตรกร แต่ก็เป็นเพียงการรับปากหรือเป็นการอนุโลมให้แต่เพียงด้วยวาจา โดยที่ไม่ได้มีการทำบันทึกไว้แบบเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เกิดความไม่สบายใจในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากข้อกฎหมายนั้น มีโทษรุนแรงที่ระบุไว้ว่า แค่เพียงมีไว้ในครอบครอบครองก็ต้องถูกจำคุกหนักถึง 5 ปี และปรับเป็นเงินสูงสุดถึง 5 แสนบาท หากวันใดวันหนึ่งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปจับกุมเกษตรกรที่มีเครื่องมือประมงชนิดนี้ (ไอ้โง่) เอาไว้ในความครอบครองขึ้นมา ชาวบ้านก็จะพากันเดือดร้อนหนัก
เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนเกษตรกรทั่วทั้งประเทศ ที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงกุ้งนั้น ได้หันมาใช้วิธีการเลี้ยงกุ้งขาวปนกับปลานิลในบ่อเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนในการผลิต เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งในลักษณะนี้จะไม่ต้องให้อาหารกุ้งที่มีราคาแพงในการเลี้ยง หรือไม่จำเป็นต้องหว่านอาหารกุ้ง
โดยเกษตรกรเพียงใช้รำข้าวในการเลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลานิล ภายในบ่อเลี้ยง กุ้งก็จะมาอาศัยเก็บหากินเศษอาหาร คือ รำข้าว จากปลาที่ทำตกหล่นอยู่ ตลอดจนขี้ปลานิลที่เป็นซากพืชละเอียด จึงทำให้ก้นบ่อสะอาด และไม่เกิดความสูญเสีย สิ้นเปลือง และมีเศษอาหารตกค้างอยู่ภายในบ่อ ขณะที่ปลานิลยังเป็นตัวช่วยในการเติมอากาศหรือออกซิเจนลงไปภายในน้ำให้แก่กุ้งด้วย เกษตรกรจึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องตีน้ำ เพื่อเติมอากาศบ่อยนัก จึงเป็นการลดต้นทุนทั้งด้านอาหาร และด้านการประหยัดพลังงาน ทำให้ผลผลิตที่ได้มีความคุ้มค่ามากกว่า เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งแบบดั้งเดิมนั้นต้องใช้ต้นทุนสูงกว่ามาก
“ปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำสั่งฉบับนี้นั้น เนื่องจากเกษตรกรมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือ “ไอ้โง่” ในการดักจับกุ้งที่โตได้ขนาดแล้วไปขาย ก่อนที่จะจับปลา เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งนั้นใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 3 - 4 เดือนก็สามารถที่จะจับออกไปขายได้แล้ว แต่การเลี้ยงปลานิลนั้นต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงยาวนานประมาณ 1 ปี เกษตรกรจึงไม่มีทางเลือกอื่น เพราะหากวิดน้ำเพื่อจับกุ้งก็จะสูญเสียปลาที่ยังโตไม่ได้ขนาด และยังไม่มีเครื่องมือชนิดอื่นใดมาทดแทน เพื่อแยกดักจับเฉพาะกุ้งออกจากบ่อปลาแทนไอ้โง่ได้ จึงเป็นปัญหาและเป็นความเดือดร้อนของเกษตรกรที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้” นายอาทร กล่าว
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าไปขอพบกับ นางพจนีย์ รักกลิ่น ประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ได้รับการปฏิเสธจากทางเจ้าหน้าที่ในสำนักงานว่า ทางนางพจนีย์ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวในเรื่องดังกล่าวนี้ เนื่องจากจะต้องรีบเตรียมเอกสารเพื่อไปเข้าร่วมประชุม และจะขอนัดผู้สื่อข่าวในภายหลัง แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว ผู้สื่อข่าวยังไม่ได้รับการติดต่อกลับมาจากทางสำนักงานประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่อย่างใด