กฟผ.ลั่นถ่านหินไม่เกิด พร้อมผับแผนสร้างโรงไฟฟ้า
โดย -โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่ต้องเริ่มต้นใหม่ในกระบวนการศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว และการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ)โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
ปัจจุบันได้เตรียมเปิดประมูลว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอใหม่ คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน หรือราว พ.ค-มิ.ย.นี้ จึงจะสามารถเริ่มต้นการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือค.1 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกในการจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอ
“การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอจะเป็นบริษัท แอร์เซฟ จำกัด ที่เป็นผู้จัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอครั้งแรกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการประมูลแข่งขัน เพราะ กฟผ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการว่าจ้างที่ปรึกษา โดยการจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอฉบับใหม่ยังต้องหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ว่าจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง ซึ่งการจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอจะใช้เวลา 2 ปี ถึง 2 ปีครึ่ง หลังจากนั้นจึงจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งใช้เวลา 4 ปี โดยคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เร็วสุดในปี 2567 ล่าช้าจากเดิมปี 2564”
อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ กฟผ.จะไม่ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่จ.กระบี่เช่นเดียวกัน เพราะหากจะเปลี่ยนไปสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เคยทำการศึกษาเดินท่อก๊าซในทะเลแล้วพบว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงหากจะสร้างคลังรับแอลเอ็นจีลอยน้ำ(เอฟเอสอาร์ยู) จะต้องต่อท่อก๊าซระยะทางราว 19 กิโลเมตรไปยังโรงไฟฟ้า ซึ่งอนาคตพื้นที่ดังกล่าวจะถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา เฟส 1 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอีไอเอและอีเอชไอเอ ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) ซึ่งคาดว่าจะผ่านการอนุมัติในเดือนพ.ค.นี้ แต่ในภาพรวมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอาจล่าช้าออกไปจากแผนราว 2 ปี จากเดิมคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เนื่องจากยังมีขั้นตอนพิจารณาอื่นๆ ก่อนขอกรอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ต้องใช้เวลาอีก 18 -24 เดือน
นอกจากนี้ยังติดปัญหาเวนคืนที่ดิน ซึ่งต้องใช้เวลาในการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) เวนคืนที่ดินอีก 1 ปี
ทั้งนี้ กฟผ.ได้เตรียมแผนสำรองรับมือกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา ที่เข้าระบบล่าช้า ซึ่งจะทำให้ช่วงปี 2562-2654 ภาคใต้มีความเสี่ยงด้านไฟฟ้า โดยจะเร่งดำเนินการแผนก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความสามารถการส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางเข้ามาเสริมระบบในภาคใต้ ซึ่งจะรองรับกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีกราว 600-700 เมกะวัตต์
นายกรศิษฏ์ ยังกล่าวอีกว่า กฟผ. เตรียมจัดทำโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูแบบผสมผสาน (ไฮบริด) แบบสัญญาผลิตไฟฟ้าเสถียร(เฟิร์ม)ใน3พื้นที่ โดย 2 โครงการแรก อยู่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์) ผสมกับระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage Systems) ส่วนอีก 1 โครงการ ที่ อ.ลำตะคลอง จ.นครราชสีมา ซึ่งจะใช้พลังงานลม ผสมกับไฮโดรเจน(ฟูเอล) มาผสมกับไฟฟ้าหลักของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าและเป็นการทดสอบประสิทธิภาพพลังงานหมุนเวียนรูปแบบไฮบริดเฟิร์มที่จะส่งเสริมในอนาคต โดยคาดว่าจะหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการผ่านการเปิดประมูลแข่งขันราคาออนไลน์ (อี-อ็อกชั่น) ภายในปีนี้