รีไซเคิล'ก้นบุหรี่'เป็น'กระดาษ'
บริษัทรีไซเคิลขยะในบราซิลตั้งโรงงานแปรรูปก้นบุหรี่ที่เหลือจากนักสูบให้กลายมาเป็นกระดาษ
บริษัทโปยาโต อยู่ที่เมืองโวโตรันติม รัฐเซาเปาโล ตั้งโรงงานรีไซเคิลเศษก้นบุหรี่แห่งแรกในบราซิล โดยใช้ก้นบุหรี่จำนวนมากที่เก็บมาจากตามท้องถนนและท่อน้ำ โครงการนี้ก็พัฒนามาจากความเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยบราซิเลีย ซึ่งเริ่มวิจัยกระบวนการรีไซเคิลในปี 2545
นายมาร์กอส โปยาโต เจ้าของบริษัท กล่าวว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจให้ตั้งโรงงานรีไซเคิลก้นบหุรี่หลังจากรับรู้ว่ามันทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นพิษ ก้นบุหรี่ชิ้นหนึ่งมีสารประกอบ 8,680 ชนิด และเมื่อมันไปสัมผัสน้ำ แดด หรืออากาศ มันก็สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง และจะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคต
กระบวนการรีไซเคิลของโปยาโต เริ่มจากชำระล้างก้นบุหรี่ในน้ำ และล้างสารพิษและสารเคมี ก่อนจะทำให้แห้งและบีบอัดเป็นก้อน จากนั้นก็นำลงหม้อต้มขนาดใหญ่และรอให้แห้ง 6 ชั่วโมง ก่อนจะนำไปแปรรูปเป็นกระดาษ
นายโปยาโต กล่าวว่า ก้นบุหรี่เพียง 35-50 ชิ้น สามารถทำเป็นกระดาษ เอ4 ได้ 1 แผ่น และโรงงานกำลังเปลี่ยนก้นบุหรี่ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม