ข่าว

วอนทบทวน “จบอะไรก็เป็นครูได้”

วอนทบทวน “จบอะไรก็เป็นครูได้”

27 มี.ค. 2560

เครือข่ายนิสิตครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เสียสิทธิ์อันชอบธรรมที่ตนเองพึงได้ วอน รมต.ทบทวน “จบอะไรก็เป็นครูได้”


               27 มี.ค. 60  เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม  นายชญนันท์ รักษาศรี ​​หัวหน้านิสิต คณะกรรมการนิสิตปริญญาบัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอนุวัฒน์ อินต๊ะ ประธานสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ นิสิตหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายอัสนี สมิทธิชัยนนท์ หัวหน้านักศึกษา คณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ รวมตัวประกาศจุดยืน เพื่อขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย

 

วอนทบทวน “จบอะไรก็เป็นครูได้”

 

               อันสืบเนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 มีมติปรับหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2560 กรณีทั่วไป โดยมีการประกาศรับสมัครสอบแข่งขันในวันที่ 21 - 29 มีนาคม 2560 และรับสมัครวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2560 ซึ่งในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสามารถเข้ามาสมัครสอบได้ หากผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย แต่จะต้องเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกรอบระยะเวลาที่คุรุสภากำหนดต่อไป จากมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ดังกล่าวนั้น กลุ่มเครือข่ายนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อวงการการศึกษาไทย คือ

               1. ผลกระทบต่อผู้เรียน ตามที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนไทย พัฒนาคนให้มีความเป็นคนที่สมบูรณ์มีวินัย ใฝ่รู้มีความรู้ มีทักษะมีความคิดสร้างสรรค์มีทัศนคติที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม มีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานหลักในภาคการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพคนของประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว ภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ คู่คุณธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขในสังคม” โดยธรรมชาติของผู้เรียนนั้น ย่อมมีความแตกต่างระหว่างบุคคล ผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีทั้งความรู้ ในด้านวิชาการและขณะเดียวกันต้องมีความรู้ทางด้านจิตวิทยาการศึกษา วิธีสอน การวัดและประเมินผล นวัตกรรมทางการศึกษา การพัฒนาหลักสูตร ตลอดจนจริยธรรมครู เพื่อให้การจัดการเรียนรู้มีประสิทธิผลต่อผู้เรียนทุกคน รวมถึงผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล กระบวนการจัดการเรียนรู้จึงมีความสำคัญและมีผลต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก

 

วอนทบทวน “จบอะไรก็เป็นครูได้”

 

               หากผู้เรียนได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากผู้สอนที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ แน่นอนว่าบุคคลเหล่านั้นย่อมจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในศาสตร์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ตลอดจนไม่มีประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติการวิชาชีพครู การปฏิบัติงานจึงจะเป็นเพียงการเริ่มต้นทดลองสอน โดยใช้ผู้เรียนเป็นหนูทดลอง ซึ่งในความเป็นจริงผู้เรียนไม่ได้ทดลองเรียน และการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชาล้วนมีผลต่อการค้นพบความถนัดตลอดจนการตัดสินใจในอนาคตของผู้เรียนทั้งสิ้น การเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์สอบบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย จึงเป็นความเสี่ยงต่ออนาคตของผู้เรียน และล้อเล่นกับความคาดหวังของผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนกับครูที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งหากจะดำเนินการตามมติดังกล่าว ทางกลุ่มเครือข่ายนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ มีความเห็นว่า ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ จำเป็นต้องผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูหรือผ่านการอบรมเพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการประกอบวิชาชีพครูก่อนปฏิบัติงานจริง

               2. ผลกระทบต่อโรงเรียน ตามกระบวนการจัดการศึกษาต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่การเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ สอบบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยโดยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิตครูให้มีคุณภาพและตรงตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนดนั้น จะทำให้ทางโรงเรียนมีภาระเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากงานสอนแล้ว ครูยังมีงานอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้การจัดการศึกษามีประสิทธิผล ทั้งงานวิชาการ งานกิจการนักเรียน ฯลฯ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ จะยังขาดประสบการณ์ในการทำงานดังกล่าว โรงเรียนจึงต้องใช้เวลาและงบประมาณในการพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ และที่สำคัญคือต้องเสียโอกาสในการได้บุคลากรที่มีความพร้อมในการทำงานอีกด้วย และอาจจะส่งผลกระทบต่อเพื่อนครูที่สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ในการทำงาน โดยจะต้องแบกรับภาระงานที่มากกว่าที่ควรจะเป็น อันจะส่งผลให้ครูต้องทิ้งงานสอน เพื่อปฏิบัติงานส่งเสริมการศึกษาที่อัตราคนมีความพร้อมในการทำงานไม่เหมาะสมกับปริมาณของงาน

               3. ผลกระทบต่อนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ การเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ สามารถสอบบรรจุได้นั้นจึงเป็นการลิดลอนสิทธิ์ของนิสิต นักศึกษา เนื่องจากนิสิต นักศึกษาจากคณะอื่นๆ สำเร็จการศึกษาในชั้นปีที่ 4 สามารถสอบบรรจุได้และถ้าหากผ่านเกณฑ์การคัดเลือกก็สามารถเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ ก่อนมีใบประกอบวิชาชีพ แต่นิสิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ ไม่มีสิทธิ์ในการสอบ ทั้งๆ ที่เรียนจบชั้นปีที่ 4 เช่นเดียวกับคณะอื่นๆ เพราะหลักสูตรกำหนดให้เรียน 5 ปี จึงเท่ากับว่านิสิต นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เสียสิทธิ์อันชอบธรรมที่ตนเองพึงได้ และเมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร 5 ปี นิสิต นักศึกษา ต้องไปสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย จึงเท่ากับเป็นการชะลอโอกาสในการทำงานของนิสิต นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ แต่ยื่นโอกาสให้กับนิสิต นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากคณะอื่นๆ ถึงแม้ว่าผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกก็สามารถเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ จะต้องเข้าอบรมตามเงื่อนไขของคุรุสภาก็ตาม แต่ในระหว่างที่อบรมกับคุรุสภา ผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกก็สามารถเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพเหล่านี้ก็สามารถได้เงินเดือนและมีอาชีพรองรับ ในขณะที่นิสิต นักศึกษาคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ ยังต้องใช้เวลาในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่มีเงินเดือน และยังไม่มีอาชีพรองรับ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงเรียนและจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อผลิตสื่อการเรียนการสอน ซึ่งหากจะดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรของคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ เป็นหลักสูตร 4 ปี ทางกลุ่มเครือข่ายนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ มีความเห็นว่า หลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยนี้ ควรมีผลบังคับใช้เมื่อนิสิต นักศึกษาคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 4 ปีรุ่นแรกสำเร็จการศึกษา

 

วอนทบทวน “จบอะไรก็เป็นครูได้”

 

               4. ผลกระทบต่อคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ แต่เดิมหลักสูตรคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ เป็นหลักสูตร 4 ปี เช่นเดียวกับคณะอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิชาชีพ ต่อมาได้มีแนวคิดว่า “ครู” เป็นวิชาชีพที่สำคัญต้องยกมาตรฐานวิชาชีพให้สูงขึ้น จึงปรับให้มีการเรียนครู 5 ปี เพื่อได้ใช้เวลาในการบ่มเพาะความเป็นครู การที่ผู้ไม่สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูสามารถสอบบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วยได้ จึงเท่ากับเป็นการทำลาย “วิชาชีพครู” ฉะนั้นแล้ว การที่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 มีผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ประกาศคุณสมบัติผู้สมัครสอบว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะอื่นๆ สามารถสมัครสอบและบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้โดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู จึงสวนทางกับเจตนารมณ์ในการส่งเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง และเป็นการทำลายวิชาชีพครู หมดสถานะความเป็นวิชาชีพชั้นสูงหรือความเป็นศาสตร์เฉพาะทาง และที่สำคัญในอนาคตคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ อาจจะต้องปิดตัวในบางสาขาวิชา เพราะผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ก็สามารถสอบบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้

               และ 5. ผลกระทบต่อประเทศชาติ การศึกษาเป็นดัชนีที่ชี้วัดทิศทางในการพัฒนาประเทศชาติ เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ ประเทศชาติไม่ได้ต้องการเพียงแค่คนเก่ง แต่ประเทศชาติต้องการบุคคลที่รู้จักใช้ความดีพัฒนาตนและใช้ความสามารถอันเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคลพัฒนาชาติในทุกๆ ด้านอย่างพร้อมเพรียงกัน อีกทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์มาสอบบรรจุเข้ารับราชการครูยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ให้ได้ทำงานที่ไม่เหมาะสมกับความถนัดและความสามารถของตนเอง อันจะส่งผลระยะยาวต่อกระบวนการการศึกษา และเป็นการลดการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพในสาขาวิชาต่างๆ

               นายชญนันท์ กล่าวว่า การประกาศหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยจึงเปรียบเสมือนการให้ใบเซียมซีเสี่ยงทายอนาคตของประเทศชาติที่ยังไร้ความแน่นอน ในนามของกลุ่มเครือข่ายนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ จึงขอให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยอีกครั้ง และพร้อมเดินหน้าเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ทราบถึงผลกระทบดังกล่าว และหรือหาวิธีเยียวยาแก่นักศึกษาคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ที่ต้องเรียน 5 ปี เพื่อต้องการจบออกมาเป็นครูอย่างแท้จริง ตามกติกาที่เคยตั้งไว้ เมื่อ 13 ปีก่อน