ข่าว

เกษตรฯ คุมเข้มส่งออก “ทุเรียนนอกฤดู”

เกษตรฯ คุมเข้มส่งออก “ทุเรียนนอกฤดู”

31 มี.ค. 2560

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

 

            กรมวิชาการเกษตร สั่งด่านตรวจพืชคุมเข้มส่งออก “ทุเรียนนอกฤดู”หวั่นศัตรูพืช และสินค้าตกเกรดหลุดสู่ปลายทาง    ส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจถึงโรงคัดบรรจุ  หนุนการค้าคล่องตัว     ชี้สภาพอากาศแปรปรวนกระทบผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย   ดันราคาพุ่ง

         นายสุวิทย์  ชัยเกียรติยศ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ทุเรียนนอกฤดูเป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง  แต่เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนได้ส่งผลกระทบต่อการออกดอกและติดผลของทุเรียน     ปีนี้คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตทุเรียนนอกฤดูที่ออกสู่ตลาดจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา    ทำให้ราคาขยับตัวสูงขึ้นและชาวสวนขายได้ราคาดี    ซึ่งขณะนี้เริ่มเปิดตลาดส่งออกทุเรียนนอกฤดูไปต่างประเทศแล้ว  โดยช่วงเปิดฤดูกาลส่งออกระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 ไทยมีการส่งออกสินค้าทุเรียนสดแล้วกว่า 5,723.8 ตัน มูลค่า ประมาณ 155.3 ล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดจีน และเวียดนาม เป็นต้น   และคาดว่าจะมีการส่งออกมากในช่วงเดือนเมษายนนี้

            อย่างไรก็ตาม   เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีศัตรูพืชกักกันติดไปกับทุเรียนส่งออกและไม่ให้ทุเรียนด้อยคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน เช่น ทุเรียนอ่อน หลุดออกไปสู่ประเทศปลายทาง กรมวิชาการเกษตรจึงได้กำหนดมาตรการควบคุม ตรวจสอบ และออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนสดไปต่างประเทศ โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้ด่านตรวจพืชดำเนินการตรวจสอบทุเรียนนอกฤดูที่ส่งออกเข้มงวดมากยิ่งขึ้น   โดยเฉพาะการตรวจสอบโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียน GMP หากพบไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดจะดำเนินการลงโทษตามลำดับคือ แจ้งเตือน  พักใช้  และเพิกถอนใบอนุญาตทันที   (ข้อความที่ขีดเส้นอธิบดีให้เพิ่มเติมในข่าว)

          “ก่อนเปิดฤดูกาลส่งออกทุเรียน   นายตรวจพืชได้ลงพื้นที่ให้แนะนำและตรวจสอบเครื่องมือ/อุปกรณ์ทำความสะอาดผลทุเรียน   รวมถึงการจัดการกำจัดศัตรูพืช นอกจากนั้น ด่านตรวจพืชยังได้       ทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการส่งออกภายใต้ข้อตกลงพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับสินค้าผลไม้เมืองร้อนที่ส่งออกจากไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน  และได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออก   เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงเงื่อนไขการปฏิบัติเพื่อการส่งออกทุเรียนสด และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศัตรูพืชที่ต้องเฝ้าระวังด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

            ด้านนายพิทวัฒน์  อ่อนทองหลาง   หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบังเป็นหนึ่งด่านที่มีผู้ประกอบการมายื่นขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (พ.ก.7) สำหรับการส่งออกทุเรียนสดจำนวนมาก    ด่านฯจึงกำหนดมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อรองรับสินค้าส่งออกที่มีวันละกว่า 30 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักประมาณ540-600 ตัน/วัน โดยผู้ส่งออกที่ยื่นคำขอ พ.ก.7 ต้องระบุหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ (GMP)  และต้องไม่อยู่ในรายชื่อที่ถูกระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช   จากนั้นเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะไปสุ่มตรวจทุเรียนสดที่จะส่งออก ณ โรงคัดบรรจุ เน้นตรวจสอบศัตรูพืชของทุเรียน ที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ เพลี้ยแป้ง และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยจะสุ่มตัวอย่างสินค้า 3% ต่อชิปเม้นท์ เพื่อตรวจสอบก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้กับทุเรียนทุกล็อต  

            ที่ผ่านมา การตรวจสอบศัตรูพืชในทุเรียนส่งออก ทำการสุ่มตรวจที่บริเวณลานตรวจ ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง   โดยต้องเปิดตู้คอนเทนเนอร์ สุ่มเก็บตัวอย่าง  และตรวจสอบศัตรูพืชตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า แต่การชักตัวอย่างทุเรียนมีข้อจำกัด เนื่องจากการสุ่มตรวจไม่สามารถดำเนินการได้ทั่วถึง สุ่มตรวจได้เฉพาะท้ายตู้เท่านั้น  ทั้งยังมีปัญหาแรงงานและสถานที่ไม่เอื้ออำนวยกรณี ที่มีรถบรรทุกสินค้ารอคิวตรวจเพื่อส่งออกพร้อมกันปริมาณมาก   และการเปิดตู้ตรวจตอนกลางวันจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพทุเรียน   เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายในตู้ซึ่งมีความเย็นประมาณ 1-4 องศาเซลเซียส   เมื่อกระทบอากาศร้อนด้านนอกจะทำให้คุณภาพทุเรียนเสียหาย   และที่สำคัญหลังจากออกใบรับรองสุขอนามัยพืชไปแล้วยังมีการแจ้งเตือนการตรวจพบศัตรูพืชที่ติดไปกับทุเรียนของไทยด้วย

          ดังนั้นด่านฯได้แก้ไขปัญหาโดยส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจสินค้าที่โรงคัดบรรจุ แล้วปิดผนึกหรือซิลล์ตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ต้องเปิดตู้ตรวจซ้ำ ณ หน้าด่านก่อนส่งออกอีก   ซึ่งวิธีการดังกล่าวนอกจากสามารถวางแผนจัดการพื้นที่และตรวจสอบศัตรูพืชได้อย่างเป็นระบบและทั่วถึงแล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกและช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการค้าได้   อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่า ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกถูกระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช    หรือตรวจพบศัตรูพืชกักกันของจีนและไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้  หรือตรวจพบว่าผู้ส่งออกไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในพิธีสารฯ กรมวิชาการเกษตรจะไม่ออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้และไม่อนุญาตให้ส่งออกได้