ข่าว

โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำของที่ระลึก-เครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพ

โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำของที่ระลึก-เครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพ

14 เม.ย. 2560

โปรดเกล้าฯ จัดทำของที่ระลึกงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำของที่ระลึก-เครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพ

          วันที่ 14 เมษายน สำนักพระราชวัง แจ้งว่า  ตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้สำนักราชเลขาธิการ และสำนักพระราชวังดำเนินการจัดทำของที่ระลึกงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช  ถวายแก่พระสงฆ์บรรพชิตจีนนิกาย และอนัมนิกาย   รวมทั้งถวายตามพระอารามหลวง ในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ โดยของ ที่ระลึกและเครื่องสังเค็ดดังกล่าว จะต้องมีการออกแบบสร้างขึ้นโดยประณีต ลวดลาย สีสันที่ใช้และปักประดับต้องมีความหมายเกี่ยวเนื่องในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุยเดช นั้น สำนักพระราชวังได้มอบหมายให้กรมศิลปากร  โดยช่างกลุ่มประณีตศิลป์ ช่างกลุ่มจิตรกรรม และช่างกลุ่มศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา  สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการออกแบบของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ด  ประกอบด้วย พัดรอง–ผ้ากราบ-ย่าม, ตู้สังเค็ด, หีบปาฏิโมกข์, ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์   ซึ่ง นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นำขึ้นกราบบังคับทูลฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรและทรงมีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบ โปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังรับไปดำเนินการจัดสร้างแล้ว ดังนี้

โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำของที่ระลึก-เครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพ           1.พัดรองสำหรับพระสงฆ์ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลการออกพระเมรุมาศ   ออกแบบโดย นายเจริญ ฮั่นเจริญ กลุ่มจิตรกรรม  มีลักษณะเป็นพัดหน้านาง ปักลวดลายพระบรมโกศตั้งบนพระแท่น ประดับด้วยพระปรมาภิไธยย่อ ภปร และฉัตร 5 ชั้น 2 ข้าง พร้อมวันที่สวรรคต  2.พัดรองสำหรับพระจีนนิกายและอนัมนิกายในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลการออกพระเมรุมาศ   ออกแบบโดย นายเกียรติศักดิ์  สุวรรณพงศ์  กลุ่มงานจิตรกรรม   มีลักษณะคล้ายพัดเหลี่ยมมุมมน  ปักลวดลาย ตราพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ภายใต้อุณาโลมและพระมหาพิชัยมงกุฎ  นมพัดทำเป็นรูปครุฑหล่อประดับ  ปักปีพระสูติและปีสวรรคตซ้าย-ขวาของนมพัด  3.พัดรองสำหรับพระสงฆ์ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระบรมอัฐิ ออกแบบโดย  นายอัครพล คล่องบัญชี กลุ่มศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา  ลักษณะเป็นพัดหน้านาง ปักลวดลายพระบรมโกศตั้งบนพระแท่น ประดับด้วยฉัตร 7 ชั้น 2 ข้าง  นมพัดทำเป็นรูปพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9  ซึ่งเป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น "อุ" หรือ "เลข 9" รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร 7 ชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ

โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำของที่ระลึก-เครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพ

          4.ตู้สังเค็ด  เป็นตู้กระจกสำหรับใส่หนังสือ มีขารองรับน้ำหนัก 4 ขา  ขนาดสูง 170 เซ็นติเมตร กว้าง 86 เซนติเมตร และลึก 44 เซนติเมตร หลังคาตู้ประดับกระจังลวดลายตราพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ภายใต้อุณาโลมและพระมหาพิชัยมงกุฎ   มีรูป “กระต่าย”  และ  “ลิง”  สัตว์นักษัตรประจำปีประสูติ และปีสวรรคต ขนาบข้าง  ช่องกระจกหน้าตู้ทั้ง 4 ช่อง  แกะลายพ่นทรายเป็นรูปพระพุทธรูปประจำวันประสูติ, พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร, พระมหาชนก และนางมณีเมขลา ออกแบบโดย นายสุธี สกุลหนู กลุ่มงานช่างเขียนและลายรดน้ำ กลุ่มประณีตศิลป์   4.ตู้พระปาฏิโมกข์  ออกแบบโดย นายธีรยุทธ คงเพชร์ กลุ่มงานศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา   ซึ่งมีลวดลายคล้ายกับตู้พระปาฏิโมกข์ของวัดบวรนิเวศวิหาร  5.ธรรมมาสน์ปาฏิโมกข์ ลายเหลี่ยมเพชร  ออกแบบโดย นายอัครพล คล่องบัญชี กลุ่มศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา  

โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำของที่ระลึก-เครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพ           ด้าน นายสมควร อุ่มตระกูล ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร   กล่าวว่า  ธรรมเนียมนิยมการสร้างถวายเครื่องสังเค็ด เริ่มขึ้นหลังจากงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยเครื่องสังเค็ดจะถวายไปยังวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ธรรมาสน์เทศน์ ธรรมาสน์สวด หนังสือปาติโมกข์พร้อมตู้ เทียนสลักพร้อมตู้ลายทอง หีบใส่หนังสือสวด หนังสือเทศน์ พัดรอง ย่าม ผ้ากราบ และภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ของสงฆ์   สำหรับแบบของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ด  ประกอบด้วย พัดรอง–ผ้ากราบ-ย่าม, ตู้สังเค็ด, หีบปาฏิโมกข์, ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์  ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ  ให้จัดทำนั้น  ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแบบร่วมกับสำนักพระราชวัง เพื่อทำไปผลิตจริง