เชียงใหม่"จอแจ"แก้ด้วยรถไฟฟ้า !!
"สามารถ”เสนอสร้างรถไฟฟ้าเล็กที่เชียงใหม่ แก้ปัญหารถติด ก่อนที่จะเหมือน กทม.
24 เม.ย. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์”ว่า เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และเป็นเมืองเก่าที่ทรงคุณค่า สิ่ง เหล่านี้ล้วนผสมที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเป็นจำนวนมากทุกปี การท่องเที่ยวจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของเมือง สารพัดสารพันปัญหาถาโถมสู่เมืองเชียงใหม่ อย่างเรื่องการจราจรติดขัดเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องรีบแก้ไขเพื่อไม่ให้การเจริญเติบโตของเมืองต้องชะลอตัว และเพื่อป้องกันไม่ให้เชียงใหม่ต้องประสบปัญหารถติดอย่างหนักเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้ ระบบขนส่งมวลชนที่สามารถขนผู้โดยสารได้ครั้งละมากๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเมืองเชียงใหม่
นายสามารถระบุอีกว่า เมื่อย้อนดูอดีต จะพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามหาทางแก้ปัญหาจราจรของเมืองเชียงใหม่อย่างหลากหลาย เช่นในช่วงปี พ.ศ.2533-2534 สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ภายใต้ความช่วยเหลือขององค์การยูเสด (United State Agency for International Development หรือ USAID) ได้จัดให้มี “โครงการวางแผนเพื่อพัฒนาเมืองเชียงใหม่” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาเมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืน โครงการนี้มีข้อเสนอแนะด้านการจราจร สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ รวมทั้งมีข้อเสนอเรื่อง “เมืองแฝด” และ “เมืองใหม่” ที่หวังจะให้รองรับความเจริญจาก “เมืองเก่า” ด้วย แต่ก็เป็นเพียงแค่การวางแผนเท่านั้น คล้อยหลังจากโครงการนี้มา 3 - 4 ปี การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้วางแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบา (Light Rail Transit หรือแอลอาร์ที) สำหรับเมืองเชียงใหม่ แต่ กทพ. ทำได้เพียงแค่การศึกษาความเหมาะสมเท่านั้น ไม่มีการลงมือก่อสร้างแต่ประการใด
ต่อจากนั้น ในปี พ.ศ.2550 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาระบบขนส่งมวลชนสำหรับเมืองเชียงใหม่ โดยได้เสนอให้ก่อสร้างรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ บีอาร์ที) แต่ก็เป็นได้แค่ข้อเสนอเท่านั้นเมื่อไม่นานมานี้ มีความพยายามที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับชาวเชียงใหม่ แต่สุดท้าย โมโนเรลก็ไม่เกิดขึ้น
“ถึงเวลานี้ ผมอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาทางแก้ปัญหาจราจรในเมืองเชียงใหม่อย่างจริงจัง โดยขอให้พิจารณาศึกษาหาระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้ ผมขอเสนอให้ก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบา หรือ แอลอาร์ที (Light Rail Transit) โดยวิ่งบนระดับพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ เพื่อไม่ให้ทำลายทัศนียภาพของเมือง ทั้งนี้ เราสามารถออกแบบแอลอาร์ทีให้กลมกลืนกับการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ได้ไม่ยาก แอลอาร์ทีสามารถขนผู้โดยสารได้จำนวนมาก ใช้เงินค่าก่อสร้างและค่าบริหารจัดการเดินรถไม่มาก ส่งผลให้ค่าโดยสารไม่แพง คนส่วนใหญ่สามารถใช้บริการได้ อีกทั้งมีความสะดวกสบายที่จะสามารถจูงใจผู้โดยสารได้ เมื่อการก่อสร้างสำเร็จ แอลอาร์ทีจะเป็นต้นแบบระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญของเมืองหลักอื่นในภูมิภาคอีกด้วย เช่น พิษณุโลก นครราชสีมา และหาดใหญ่ เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งพิจารณาก่อสร้างแอลอาร์ทีในเมืองหลักทุกภูมิภาค ก่อนที่เมืองเหล่านั้นจะมีสภาพการจราจรเหมือนกรุงเทพฯ” นายสามารถระบุ