ร่วมด้วย ! ฮิวแมนไรท์วอตช์ ออกแถลงการณ์ค้านกฎหมายคุมสื่อ
ฮิวแมนไรท์วอตช์ ออกแถลงการณ์ค้านกฎหมายคุมสื่อ ชี้จำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ตรงกับชื่อ จี้ถอนออก
ฮิวแมนไรท์วอตช์ ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ถูกมองว่ามีเนื้อหา ต้องการที่จะควบคุมสื่อโดยการให้ขึ้นทะเบียนสื่อมวลชน ทั้งนี้แถลงการณ์ระบุว่ารัฐบาลไทยควรถอนร่างกฎหมายฉบับล่าสุด ที่มุ่งควบคุมการรายงานข่าวในประเทศไทยให้เข้มงวดขึ้นโดยทันที ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐบาลทหารประกาศว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนกำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล เพื่อกำกับดูแลสื่อทุกสาขา ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์และออนไลน์ ทั้งยังกำหนดโทษกับบุคคลใด ๆ ซึ่งมีรายได้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมจากรายงานข่าวต่อสาธารณะ โดยไม่มีการจดทะเบียนสื่อในลักษณะเป็นบริษัท สำนักข่าวหรือองค์กร โดยอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกิน 60,000 บาท
“กฎหมายว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพสื่อซึ่งมีชื่อไม่ตรงกับเนื้อหาฉบับนี้ เป็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาลทหารในการเข้าไปแทรกแซงและควบคุมการรายงานข่าวอย่างอิสระ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ย่อมทำให้ผู้สื่อข่าวในประเทศไทยต้องคอยกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าพวกเขาอาจถูกจำคุกโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล”
องค์กรสื่อกว่า 30 แห่งในประเทศไทย รวมทั้งสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้แสดงข้อกังวลอย่างจริงจังต่อร่างกฎหมายนี้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้รัฐบาลสามารถแทรกแซงสื่อและทำให้ผู้สื่อข่าวต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกตอบโต้ รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจจะถูกเพิกถอนทะเบียน
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เคยสัญญาตลอดมาว่า จะเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นอิสระของสื่อ รัฐบาลนี้เน้นย้ำข้อสัญญาดังกล่าวครั้งล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม ในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระหว่างการพิจารณาสถานการณ์ด้านสิทธิของประเทศไทย อย่างไรก็ดี สถิติการปฏิบัติต่อเสรีภาพในการแสดงออกของรัฐบาลทหารอยู่ในสภาพเลวร้ายมาก ที่ผ่านมาทางการไทยมักคุกคามและดำเนินคดีกับบุคคลเพียงเพราะการแสดงความเห็น การเขียน และการโพสต์ข้อความทางอินเตอร์เน็ต ที่แม้จะเป็นเพียงการวิจารณ์รัฐบาลเพียงเล็กน้อยก็ตาม
ทันทีหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารสั่งพักการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและดิจิทัล และสถานีวิทยุชุมชนซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม ต่อมามีการอนุญาตให้บางสถานีสามารถออกอากาศได้ โดยต้องลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลทหารว่าจะไม่แสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหารหรือเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย
รัฐบาลทหารได้ออกประกาศคำสั่งหลายฉบับเพื่อเซ็นเซอร์สื่อมวลชน รวมทั้ง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ซึ่งห้าม “การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ“และห้ามเผยแพร่ “ที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิด ความแตกแยกในราชอาณาจักร“ โดยสำนักข่าวทุกแห่งถูกบังคับให้ต้องรายงานข้อมูลจากรัฐบาลทหาร
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ กรณีที่เป็นข้อมูลซึ่งทางการเห็นว่า “บิดเบือน และ (สร้าง) ความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม” ซึ่งเท่ากับเปลี่ยนให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กลายเป็นเครื่องมือการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลทหาร ซึ่งมีอำนาจอย่างกว้างขวางและไม่อาจตรวจสอบได้ สามารถสั่งพักการออกอากาศของรายการโทรทัศน์และวิทยุได้ หากทางการเห็นว่าเนื้อหาของรายการมีลักษณะบิดเบือน สร้างความแตกแยก หรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ
“ร่างกฎหมายสื่อฉบับนี้ จะยิ่งทำให้โอกาสที่รัฐบาลทหารจะสามารถทำตามสัญญาทั้งในแง่การเลือกตั้งและการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย เลื่อนลอยออกไปกว่านี้อีก” อดัมส์กล่าว “แทนที่จะออกกฎหมายเผด็จการเพิ่มเติม รัฐบาลควรยกเลิกการเซ็นเซอร์และระเบียบที่ละเมิดสิทธิ ซึ่งกำลังบั่นทอนเสรีภาพในการแสดงออกของไทยอยู่ในขณะนี้”
-----------