ข่าว

“สาบเสือ"เป็นยาทั้งต้น

“สาบเสือ"เป็นยาทั้งต้น

04 พ.ค. 2560

“สาบเสือ"เป็นยาทั้งต้น

 

      หลายคนมักมอง“สาบเสือ”เป็นวัชพืชที่ไร้ค่าพบเห็นได้ทั่วไปตามสวนผลไม้ สวนยางพาราหรือท้องทุ่งนา แต่หารู้ไม่ว่ามีสรรพคุณทางยาหลากหลายมาก นำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่รากยันใบ สาบเสือมีชื่อวิทยาศาสตร์ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob.  จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ อีกหลายชื่อ เช่น หญ้าเสือหมอบ หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว บ้านร้าง หมาหลง  หญ้าดอกขาว  หญ้าเลาฮ้าง ปักษ์ใต้เรียกต้นขี้ไก่  คนจีนรู้จักในนามเฮียงเจกลั้งหรือปวยกีเช่า 

     สมุนไพรสาบเสือ จัดเป็นวัชพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง โดยมีเขตแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดาไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศอาร์เจนตินา และระบาดทั่วไปในเขตร้อนทั่วทุกทวีป  ยกเว้นออสเตรเลียพบได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก เป็นพืชที่แตกกิ่งก้านสาขามากจนเหมือนทรงพุ่ม กิ่งก้านและลำต้นจะปกคลุมไปด้วยขนนุ่มอ่อน ๆ มีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร

      ใบ มีใบเป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นที่ข้อแบบตรงกันข้าม ใบมีสีเขียวอ่อน ลักษณะของใบคล้ายรูปรีทรงรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง ใบเรียวสอบเข้าหากัน มีขอบใบหยัก ที่ใบเห็นเส้นชัดเจน 3 เส้น ผิวใบทั้งสองด้านมีขนอ่อนปกคลุม ใบและก้านเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายกลิ่นสาบเสือ

      ดอก ออกเป็นช่อ มีสีขาวหรือสีฟ้าอมม่วง มีดอกย่อยประมาณ 10-35 ดอก โดยดอกวงนอกจะบานก่อนดอกวงใน ที่กลีบดอกหลอมรวมกันเป็นหลอด

     ผล เป็นผลขนาดเล็ก มีรูปร่างคล้ายรูปห้าเหลี่ยม มีสีน้ำตาลหรือสีดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ที่ปลายผลมีขนสีขาว ช่วงพยุงให้ผลและเมล็ดสามารถปลิวตามลมได้

     ส่วนสาเหตุที่ได้ชื่อว่า “สาบเสือ” ก็เพราะว่าดอกของสมุนไพรชนิดนี้จะไม่มีกลิ่นหอม แต่จะมีแต่กลิ่นสาบคล้ายสาบเสือ คนโบราณเวลาวิ่งหนีสัตว์ดุร้ายจะวิ่งเข้าดงสาบเสือเพื่อช่วยอำพรางให้ปลอดภัย เพราะสัตว์จะไม่ได้กลิ่นคน และยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านของสรรพคุณทางยามากมาย โดยส่วนที่นำมาก็มีทั้งจากต้น ใบ ดอก ราก เป็นต้น 

สรรพคุณของสาบเสือ

ดอก สาบเสือมีสรรพคุณช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย   ช่วยบำรุงหัวใจ  ช่วยแก้กระหายน้ำ ช่วยแก้ไข้ ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน

ใบ ช่วยแก้ตาฟาง ตาแฉะ   ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร  แก้พิษน้ำเหลือง ช่วยถอนพิษแก้อักเสบ ใช้ในการห้ามเลือด ด้วยการใช้ใบนำมาโขลกและขยี้ แล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล ก็จะช่วยห้ามเลือดได้เป็นอย่างดี เพราะสาบเสือมีสารสำคัญหลายอย่างที่มีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดหดตัว และไปช่วยกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วยิ่งขึ้น แต่อาจจะแสบมาก ๆ แต่เมื่อแผลหายแล้วจะช่วยป้องกันแผลเป็นได้ ช่วยรักษาแผลเปื่อย

ต้น ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง อาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ  แก้ตัวบวม ช่วยดูดหนอง

ราก ใช้ผสมกับรากมะนาวและรากย่านาง นำมาต้มเป็นน้ำดื่มช่วยรักษาไข้ป่า รักษาโรคกระเพาะ

ทั้งต้นของสาบเสือ ใช้เป็นยาแก้บาดทะยัก (ทั้งต้น)  

อ้างอิงข้อมูล: เว็บไซต์เมดไทย (MedThai)