ทส.เปิด“ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า” รุกคืบทวงคืนผืนป่า
ทส.เปิด“ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า” รุกคืบทวงคืนผืนป่า-ปราบปรามกลุ่มอิทธิพลผู้บุกรุก
ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินเต็มไปด้วยทรัพยากร “ป่าไม้” ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่ในช่วงระยะเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ป่าไม้ของเรากลับถูกบุกรุกคุกคามจนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในปี พ.ศ.2516 ที่เราเคยมีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศถึง 138 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 43.2% ของพื้นที่ประเทศ แต่จากข้อมูลของกรมป่าไม้เมื่อปี 2558 กลับพบว่าเนื้อที่ป่าไม้ในบ้านเราลดเหลือเพียง 102 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 31.6% ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น
หรือหากจะพูดให้ชัดเจนขึ้น ก็คือ ในช่วงเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้สูญเสียพื้นที่ป่าไปแล้วถึงกว่า 36 ล้านไร่!
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราต้องสูญเสียป่าไม้ไปอย่างมากมายขนาดนี้ ย่อมหนีไม่พ้นปัญหาหลักเพียงไม่กี่อย่างที่เป็นสาเหตุหลัก นั่นคือ การลักลอบตัดไม้ การบุกรุกเพื่อแสวงหาที่ทำกินของประชาชน และการลักลอบเข้ามาถือครองพื้นที่เพื่อก่อสร้างรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ หรือผลประโยชน์อื่นๆ ของกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพลทางสังคม
นี่จึงสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการมาตรการต่างๆที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถกอบกู้วิกฤติและพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับคืนมาอย่างเร่งด่วน!
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการกับกลุ่มผู้บุกรุก และแสวงประโยชน์ในการใช้พื้นที่ป่าไม้โดยมิชอบอย่างเด็ดขาด
โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.), กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุกจริตในภาครัฐ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาสามารถดำเนินการทวงคืนผืนป่าได้แล้วจำนวน 349,000.76 ไร่ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 212,498.37 ไร่
ขณะที่มาตรการหนึ่งที่ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อให้การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีศูนย์กลางในการประสานการปฏิบัติที่มีคุณภาพ มีความยั่งยืน และมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยเหลือในการวิเคราะห์และติดตามผลการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า” (ศปก.พป.) ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับ ศูนย์ปฏิบัติการของ กอ.รมน., เหล่าทัพ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง โดยมีดำเนินงานภารกิจสำคัญประกอบด้วย
1.มุ่งเน้นในพื้นที่ที่ล่อแหลมต่อการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ที่มีนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง
2.คดีที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกพื้นที่ป่า รวมถึงการออกเอกสารสิทธิที่ดินที่มิชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่ป่า
3.การทำไม้มีค่าที่กระทำเป็นขบวนการเพื่อลักลอบไปจำหน่ายต่างประเทศ
4.การลักลอบมีหรือค้าสัตว์ป่า
5.ลดกลุ่มอิทธิพลที่เกี่ยวกับเครือข่ายการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
ทั้งนี้ การดำเนินการของ ศปก.พป. จะอยู่ภายใต้การกำกับของ “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพิทักษ์ป่า” ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติของ ศปก.พป. มีเป้าหมาย และทิศทางที่ชัดเจน มีความสุภาพ โปร่งใส เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ของชาติ อันจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล นั่นคือ “การทวงคืนผืนป่าให้กับแผ่นดิน” เพื่อสร้างมั่นคงให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนตลอดไป