ข่าว

ธนารักษ์แนะประชาชนวางแผนรับกฎหมายที่ดินเริ่มใช้ 1 ม.ค.2562

ธนารักษ์แนะประชาชนวางแผนรับกฎหมายที่ดินเริ่มใช้ 1 ม.ค.2562

25 พ.ค. 2560

ธนารักษ์แนะประชาชนวางแผนรับกฎหมายที่ดินเริ่มใช้ 1 ม.ค.2562

                   นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวสัมมนาในหัวข้อการเตรียมความพร้อมในการจัดทำบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า ผู้ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีตามร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะต้องเตรียมแผนการบริหารจัดการทรัพย์สิน เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะในส่วนทรัพย์สินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าต่างๆ และ ทรัพย์สินทั้งสิ่งปลูกสร้างและที่ดินของบรรดารัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นจะมีภาระภาษีที่สูง โดยรัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีที่ดินอยู่ในครอบครองจำนวนมาก

                 ส่วนประชาชนที่ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งจะเข้าข่ายการเสียภาษีตามร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น ก็จะต้องบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีตามร่างกฎหมายดังกล่าว อาทิ การวางแผนปลูกพืชเกษตรในที่ดินรกร้าง การโอนหรือแบ่งแยกแปลง การจดชื่อเพิ่มเติมในทรัพย์สินนั้นๆ และ การโอนทรัพย์สินให้อยู่ในรูปของนิติบุคคล เพื่อนำไปลดหย่อนค่าใช้จ่าย ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ไม่ถือว่า กระทำผิดต่อกฎหมาย

               ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายกฎหมายได้ระบุเวลาการบังคับใช้เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมีเวลาเตรียมตัวรองรับกฎหมายดังกล่าว 1 ปี คาดว่า กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

             สำหรับการประเมินราคาที่ดินรายแปลงนั้น ขณะนี้ ธนารักษ์สามารถประเมินราคาที่ดินรายแปลงได้แล้วเสร็จ 24 จังหวัด 18.6 ล้านแปลง คาดว่า ในปีนี้ จะประเมินที่ดินรายแปลงได้แล้วเสร็จทั้งหมด 32 ล้านแปลงทั่วประเทศ โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาช่วยในการประเมิน นำระบบไอทีเข้ามาช่วย เมื่อประเมินแล้วเสร็จ จะจัดส่งผลการประเมินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อนำไปเป็นฐานในการประเมินภาษี

               ธนารักษ์ได้จัดให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประเมินภาษี ของอปท.จำนวนกว่า 1 หมื่นคน ตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว จนถึงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แต่จากการฝึกอบรมก็พบประเด็นปัญหาในรายละเอียดของวิธีการประเมิน เช่น ในพื้นที่ 1 แปลง ซึ่งแบ่งการใช้ประโยชน์ทั้งการเกษตร ที่อยู่อาศัย และ ทำพื้นที่เป็นเชิงพาณิชย์ด้วย จะต้องคิดภาษีบนฐานอะไร เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ ก็ได้อธิบายถึงวิธีการเก็บภาษีที่จะต้องคิดจากสัดส่วนการใช้ประโยชน์บนที่ดินตามฐานการจัดเก็บต่าง

              ทั้งนี้ ได้แบ่งประเภทของอสังหาริมทรัพย์ออกเป็น 5 ประเภท จำนวน 31 แบบ ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ห้องแถว บ้านแฝด และ อื่นๆ โดยกรณีอื่นๆนั้น ในร่างกฎหมายกำหนดว่า จะต้องให้ที่ปรึกษาที่ขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานก.ล.ต.เข้ามาประเมินราคาแทน เนื่องจาก เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเป็นพิเศษ หรือ มีขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเจ้าของจะต้องเป็นผู้ว่าจ้างการประเมิน

               สำหรับอัตราเพดานการจัดเก็บภาษี จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตร อัตราเพดานอยู่ที่ 0.2%มูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี 2.ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย อัตราเพดานอยู่ที่ 0.5%มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี 3.ที่ดินอื่นๆ อัตราเพดานจัดเก็บอยู่ที่ 2.0%และ 4.ที่ดินที่ไม่ใช่ประโยชน์ อัตราจัดเก็บอยู่ที่ 2.0%จัดเก็บเพิ่มทุก 3 ปี ในอัตรา 0.5%แต่โดยรวมจะต้องไม่เก็บเกิน 5.0%