ทีมสำรวจออสเตรเลียพบปลาไร้หน้าจากใต้ทะเลลึก
เท่าที่มีบันทึก ทีมสำรวจรุ่นบุกเบิกเคยเจอครั้งเดียวเมื่อกว่า 140 ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์บนเรือสำรวจ “อินเวสติเกเตอร์” ขององค์การวิจัยอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์คอมมอนเวลท์ (ซีเอสไออาร์โอ) ในออสเตรเลีย เผยผลสำรวจแหล่งอนุรักษ์ทางทะเลฝั่งตะวันออกของประเทศตั้งแต่รัฐแทสมาเนียจนถึงรัฐควีนส์แลนด์ ที่ระดับความลึก 4 กิโลเมตรเป็นครั้งแรก โดยใช้ตาข่าย โซนาร์และกล้องจับภาพใต้น้ำลึกในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา พบสิ่งมีชีวิตรูปร่างหน้าตาประหลาดและน่าตื่นตาตื่นใจ อย่างปูหินหนามแดงสว่าง แมงมุมตาบอดและปลาไหลน้ำลึก และเบื้องต้นเชื่อว่าหลายชนิดที่พบเป็นสัตว์พันธุ์ใหม่
แต่ตัวอย่างสัตว์ใต้ทะเลลึกที่ถือเป็นไฮไลท์จากทั้งหมดที่เก็บขึ้นมาศึกษาได้ คือ ปลาไร้หน้า ซึ่งเคยมีบันทึกการค้นพบไว้ครั้งเดียวโดยคณะสำรวจรุ่นบุกเบิก “เอชเอ็มเอส ชาลเลนเจอร์” นอกชายฝั่งปาปัวนิวกินี ในปี ค.ศ. 1873 หรือราว 144 ปีก่อน ปลาชนิดนี้ไม่มีตา หรือจมูกแบบที่มองเห็นได้เลย และปากของมันก็อยู่ใต้น้ำ
( ดรากอนฟิช / ภาพ AFP )
ทิม โอ ฮารา หัวหน้านักวิทยาศาสตร์บนเรืออินเวสติเกเตอร์ จากพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย กล่าวว่า สัตว์น้ำที่อยู่ในระดับความลึกเช่นนั้น เป็นสิ่งมีชีวิตไม่ธรรมดา อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน ไม่มีแสง และเย็นมาก อุณหภูมิน้ำอยู่ที่ประมาณ 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น การเก็บตัวอย่างขึ้นมาศึกษา จะช่วยยกระดับความเข้าใจแหล่งอาศัยใต้มหาสมุทร ความหลากหลายทางชีวภาพและกระบวนการนิเวศวิทยา ต่อเนื่องไปจนถึงช่วยวางแผนจัดการและอนุรักษ์ ปกป้องพวกเขาจากผลกระทบสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง มลพิษและกิจกรรมอื่นๆ จากน้ำมือมนุษย์