ข่าว

โทษประหารควรยกเลิก ?

โทษประหารควรยกเลิก ?

03 มิ.ย. 2560

โฆษกยธ.แจงผลวิจัยทั่วโลกโทษประหารไม่ข่วยยับยั้งอาชญากรในไทยนักโทษประหารส่วนใหญ่ยากจน-ด้อยโอกาสเสี่ยงตัดสินพลาด.ประหารแล้วคืนชีวิตให้แพะไม่ได้สำรวจมี447ราย

          3 มิ.ย.60 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงเหตุผลในการยกเลิกโทษประหารชีวิตว่า  จากผลการวิจัยทั่วโลกการประหารชีวิตไม่ได้มีผลต่อการยับยั้งอาชญากรรมที่รุนแรง หรือทำให้สังคมปลอดภัยขึ้นได้  แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ จากความเสี่ยงที่จะตัดสินผิดพลาดได้ เนื่องจากไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอโดยที่ไม่มีข้อบกพร่องได้ แพะที่ถูกประหารชีวิตไปแล้ว ย่อมไม่อาจสามารถเรียกชีวิตกลับคืนมาได้

         ทั้งนี้ยังมีข้อค้นพบว่านักโทษที่ถูกประหารชีวิตส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และเป็นคนด้อยโอกาส ซึ่งไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถเพื่อให้ความรู้และแก้ต่างคดีให้กับตนเองได้ นอกจากนี้นักมนุษยวิทยาเห็นว่าการประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การประหารชีวิตทุกวิธีก่อให้เกิดความทรมานต่อนักโทษอย่างแสนสาหัส ถึงแม้ว่าผู้กระทำผิดเหล่านี้จะได้ก่อเหตุรุนแรงมาแล้วก็ตาม ดังนั้นหลักของการลงโทษต้องไม่ควรเป็นไปเพื่อการแก้แค้นทดแทน แต่ต้องเป็นไปเพื่อการแก้ไขและเยียวยาทั้งตัวผู้กระทำความผิดและเหยื่อน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม     
           รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่างอีกว่า จากข้อมูลอ้างอิงถึงเดือนเมษายน 2560 มีนักโทษต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมด 447 ราย จำแนกเป็น  1 คดียาเสพติดให้โทษ ระหว่างชั้นอุทธรณ์ เป็นนักโทษชาย 105 ราย หญิง 51 ราย, ชั้นฎีกา เป็นชาย 12 ราย หญิงไม่มี และในชั้นเด็ดขาดคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นชาย 55 ราย หญิง 13 ราย 2 คดีความผิดทั่วไป เช่นคดีฆ่าคนตาย อยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ เป็นชาย 110 ราย หญิง 6 ราย, ชั้นฎีกาเป็นชาย 6 ราย ส่วนหญิงไม่มี และนักโทษชั้นเด็ดขาดคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นชาย 85 ราย และหญิง 4 ราย จากสถิติดังกล่าวพบว่าโทษประหารชีวิตในคดีทั่วไปมีจำนวนมากกว่าคดียาเสพติดให้โทษ    
           สำหรับ นักโทษประหารจะถูกควบคุมจำแนกตามเรือนจำต่าง ๆ ดังนี้ เรือนจำกลางบางขวาง 275 คน เรือนจำกลางคลองเปรม 2 คน  เรือนจำกลางเขาบิน 19 คน เรือนจำกลางสงขลา 31 คน  เรือนจำกลางพิษณุโลก 6 คน เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช 46 คน ทัณฑสถานหญิงกลาง 57 คนทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา 4 คน และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 7 คน

            ทั้งนี้ การประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้านักโทษประหารชีวิตรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2545 จากนั้นกฎหมายใหม่เปลี่ยนมาให้ประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดสารพิษ มีนักโทษถูกประหารด้วยการฉีดสารพิษจำนวน 6 ราย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2546 เป็นชาย 4 ราย นักโทษคดียาเสพติด 3 ราย คดีความผิดต่อชีวิต 1 ราย และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552 เป็นนักโทษเด็ดขาดและต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติด 2 ราย หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการประหารชีวิตอีกเลย รวมเวลา 7 ปี 9 เดือน ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็นจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต