เจ้าเหมียว...สุขภาพดี !
โดย - รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร
คุณผู้รักเหมียวทั้งหลายทุกท่านคงต้องการให้สัตว์เลี้ยงแสนรักของคุณมีสุขภาพดีอย่างแน่นอนเป็นของธรรมดา แต่การมีสุขภาพดีนั้นจะดูได้จากอะไรบ้าง และทำอย่างไรให้คงความมีสุขภาพดีอยู่ได้ตลอดไป
สิ่งบ่งบอกถึงการทำงานของร่างกายที่แสดงถึงสุขภาพดีเป็นปกติ เจ้าของต้องรู้ถึงสภาวะเหล่านี้
อุณหภูมิร่างกาย : แมวปกติสุขภาพดีอุณหภูมิร่างกายจะอยู่ที่ 100-103 องศาฟาเรนไฮต์ เฉลี่ยที่ 102 องศาฟาเรนไฮต์
อัตราการเต้นของหัวใจ (เมื่อพักสงบ) : หัวใจเต้น 110-140 ครั้งต่อนาที (เฉลี่ย 120)
อัตราการหายใจ (เมื่อพักสงบ) : แมวหายใจ 20-30 ครั้งต่อนาที
น้ำหนักตัว : แมวหง่าวหรือแมวเพศผู้ที่ยังไม่ได้ตอนจะหนักราว 3-6 กิโลกรัม ส่วนนางเหมียวไม่ได้ทำหมันจะหนักราว 2 กิโลกรัม
การสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันโรคตลอดจนดูแลตามระยะเวลาที่เหมาะสมก็จะทำให้เจ้าเหมียวของคุณมีสุขภาพดีได้โดยปฏิบัติตามปฏิทินการดูแลเจ้าเหมียวประจำปีดังนี้
-ตรวจเลือดหาพยาธิหนอนหัวใจในแมว : ปีละครั้ง เดิมไม่ได้ทำกันเพราะคิดว่าแมวบ้านเราไม่เป็นโรคนี้ แต่ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญเสียแล้วเนื่องจากแมวบ้านเราติดพยาธินี้ได้
-ตอน/ทำหมัน เมื่ออายุ 3-6 เดือน
-ฉีดวัคซีนโรคไข้หัดแมวหรือลำไส้อักเสบ : ประจำปี
-ฉีดวัคซีนโรคไวรัสทางเดินหายใจ คาลิซิไวรัส : ประจำปี
-ตรวจไวรัสโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว : ตรวจเฉพาะปีแรกก่อนฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้
-ฉีดวัคซีนโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว : ประจำปี
-ฉีดวัคซีนโรคพิษสุขบ้า : ประจำปี
-ตรวจอึ : ปีละ 2 ครั้ง
-ตรวจฟัน และขูดหินปูน : ปีละ 1 ถึง 2 ครั้ง
-ตรวจร่างกาย : ปีละ 1 ถึง 2 ครั้ง
-ตรวจเลือด : ปีละครั้ง
เจ้าเหมียวจะสุขภาพดีได้เสมอก็จำต้องพึ่งหมอด้วย ซึ่งเจ้าของจะต้องพาไปพบหมอเมื่อเจ้าเหมียวมีอาการผิดปกติไม่สู้ดี แต่ก็ต้องรู้ข้อมูลเพียงพอเพื่อช่วยให้คุณหมอได้ประกอบการวินิจฉัยและรักษาให้สุขภาพเจ้าเหมียวกลับคืนดีเป็นปกติ ดังนั้นเจ้าของแมวต้องเตรียมการตอบคำถามเหล่านี้ได้ เมื่อพาเหมียวไปหาหมอ
1.ความเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุหลักทำให้คุณพาเหมียวไปหาหมอและสาเหตุรองคืออะไร ?
2.คุณพบว่าเจ้าเหมียวผิดปกติครั้งแรกเมื่อใด ?
3.ลักษณะอาการผิดปกติอย่างแรกที่พบคืออะไร ?
4.อาการผิดปกติต่างๆ ที่พบอีกและอาการใดยังไม่ปรากฏอยู่ ? อาการใดดีขึ้นหรือแย่ลง หรือเหมือนเดิม ?
5.คุณให้การรักษาอะไรแก่เจ้าเหมียวไปบ้าง ?
6.การกิน การฉี่ การอึและกิจกรรมกิจวัตรประจำวันเป็นอย่างไร ?
7.คุณเห็นความผิดปกติทางพฤติกรรม การเคลื่อนไหว หรือการหายใจของเจ้าเหมียวอย่างไรบ้างไหม ?
8.ขาเจ็บ ตีนเจ็บ ขาเป๋ ข้างใดไหม ?
9.คุณได้พาเจ้าเหมียวไปหาหมออื่นมาก่อนที่จะพาไปหาหมอคนปัจจุบันหรือไม่ ถ้าไปมีการตรวจแล็บอะไร ? มีผลหรือไม่ ? และเคยวินิจฉัยว่าเป็นอะไร ? ได้รับการรักษาอย่างไรมาบ้าง ? ดีขึ้น แย่ลงหรือคงเดิม ?
ท่านเจ้าของที่รู้และปฏิบัติได้ดังที่เสนอแนะมานี้ก็น่าจะทำให้เจ้าเหมียวของคุณมีสุขภาพดีตลอดไปครับ!